โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขายฝากที่ดินพร้อมบ้านพิพาทไว้แก่โจทก์เมื่อครบกำหนด จำเลยไม่ไถ่แต่ขออยู่อาศัยทำกินต่อไป ต่อมาปลายปี 2528 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทออกไปจำเลยก็เพิกเฉย โจทก์ขาดผลประโยชน์จากการให้ผู้อื่นเช่าไร่ละประมาณ 200 บาทต่อปี เป็นเงินปีละประมาณ 5,800 บาทขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทออกไปจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 5,800 บาท แก่โจทก์จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 80,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อเดือน ระยะเวลากู้ 1 ปี โจทก์คิดดอกเบี้ยล่วงหน้าและให้จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทไว้ในราคา 128,000 บาทจำเลยต้องยอมจดทะเบียนขายฝากให้ตามที่โจทก์ต้องการ โดยโจทก์บอกว่าไม่ต้องการที่ดินของจำเลย ต้องการเพียงให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น ก่อนครบกำหนดไถ่จำเลยนำเงินไปไถ่ที่ดินพิพาทโจทก์ไม่ยอมให้ไถ่ หลังครบกำหนดไถ่ โจทก์ได้บอกให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาท จำเลยกับสามีไม่ยอมทำสัญญาเช่า และแสดงเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนมาเกินกว่าหนึ่งปีแล้วจำเลยไม่เคยเสียค่าเช่าให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 23ออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องที่ดินพิพาทให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายปีละ 5,800 บาท นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม2529 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางการจำนองหรือไม่ ปัญหานี้ได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 14มีนาคม 2527 จำเลยได้ติดต่อขอกู้เงินจากโจทก์เป็นเวลา 1 ปีและโจทก์จะให้กู้จำนวน 80,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนรวมเป็นเงิน 128,000 บาท ในวันดังกล่าวโจทก์จำเลยไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แล้วจำเลยได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทมีกำหนดเวลาไถ่ 1 ปีแก่โจทก์ ซึ่งการไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากนี้ ฝ่ายจำเลยมีนายแสวง กาชัย สามีจำเลยไปด้วย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำสัญญาดังกล่าวแล้วได้อ่านข้อความให้จำเลยฟัง จำเลยก็บอกพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าต้องการทำสัญญาจำนอง ไม่ต้องการทำสัญญาขายฝาก โจทก์กับนายธีรฤทธิ์บอกจำเลยว่าทำสัญญาขายฝากก็เหมือนสัญญาจำนอง เมื่อจำเลยได้ปรึกษากับสามีแล้วจึงได้ตกลงทำสัญญาขายฝาก เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าจำเลยไม่ต้องการทำสัญญาจำนอง ฉะนั้นการทำสัญญาขายฝากดังกล่าวจึงเป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์และด้วยความสมัครใจของจำเลยเองอันเป็นการกระทำไปอย่างปกติธรรมดา ไม่มีทางที่จะรับฟังได้เลยว่าการทำสัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นการอำพรางการกู้ยืมหรือจำนองที่ดินพิพาทดังที่จำเลยกล่าวอ้าง
ปัญหาต่อไปในเรื่องค่าเสียหายของโจทก์นั้น ปัญหานี้จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของตลอดมานั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่โจทก์และครบกำหนดเวลาไถ่แล้วจำเลยไม่ได้ไถ่เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยไม่ยอมออกการกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ และที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้ตามคำขอของโจทก์นั้นเป็นการเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
ปัญหาสุดท้ายในเรื่องโจทก์หมดสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยฎีกาว่าจำเลยเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาท จะต้องฟังว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของ และการที่โจทก์ไม่เข้าใจมาจัดการที่ดินพิพาท แสดงเจตนาเป็นเจ้าของหลังจากพ้นกำหนดการขายฝาก กลับปล่อยให้จำเลยเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาท ย่อมถือว่าโจทก์สละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนั้นเห็นว่า การที่จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท และไม่ถือว่าโจทก์สละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะอาศัยโจทก์มาแต่แรก และจำเลยไม่เคยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองโดยจะครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง แม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาอีกนานเท่าใดก็ตาม โจทก์ไม่ต้องฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในหนึ่งปี
พิพากษายืน