คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 6,000,000 บาท กับค่าเสียหายรายเดือนอีกเดือนละ 500,000 บาท และให้จำเลยดังกล่าวใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 เป็นจำนวนเงิน 1,200,000 บาท กับค่าเสียหายรายเดือนอีกเดือนละ 600,000 บาท สำหรับค่าเสียหายรายเดือน ให้ชำระหนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม2528 จนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ให้จำเลยดังกล่าวชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และในต้นเงินจำนวน 1,200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยดังกล่าวหยุดการทำละเมิด (ลิขสิทธิ์) ในแบบปากกาแคนดี้คอมแพค และปากกาแลนเซอร์ คาเดท ของโจทก์ทั้งสี่และให้จำเลยที่ 1 หยุดจำหน่ายปากกาจ๊อตจอย และปากกาติ๊กแต๊ก โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 13 หยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 หยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท ให้จำเลยที่ 1 หยุดการจำหน่ายปากกาจ๊อดจอยและติ๊กแต๊ก ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 13 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงินจำนวน 1,127,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะชำระเสร็จ และร่วมกันใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 1เดือนละ 84,427 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพคของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 11 ที่ 12และที่ 13 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,895,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะชำระเสร็จ และร่วมกันใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 63,751 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค ของโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน156,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะชำระเสร็จและร่วมกันใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 10,764บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงินจำนวน 153,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 4เดือนละ 1,656 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท ของโจทก์ที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 ถึงที่ 13 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ทั้งสี่จึงขอให้บังคับคดีแก่จำเลยดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 23 กันยายน 2540 ต่อศาลชั้นต้นอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3ได้หยุดการทำละเมิดต่อลิขสิทธิ์ของฝ่ายโจทก์ สำหรับปากกาติ๊กแต๊กหลังจากวันที่ 31ธันวาคม 2532 แล้ว ขอให้เจ้าหน้าที่การเงินของศาลชั้นต้นคำนวณค่าเสียหายรายเดือนตามคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ เพื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะได้นำเงินมาวางศาลต่อไปโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำแถลงคัดค้านฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม 2540 ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นับแต่วันฟ้องจนถึงวันหยุดการทำละเมิดคือวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม2538 ในวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามยอดหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกา คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างแถลงยืนยันข้อเท็จจริงตามคำแถลงของตน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการบังคับคดี จึงให้ส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งตามคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที 16 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 19มีนาคม 2541 ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อโต้แย้งของคู่ความดังกล่าวเพื่อประกอบการวินิจฉัยของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 20 มีนาคม 2541 ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ค่าคำร้องให้เป็นพับ จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2541อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งศาลฎีกาพิจารณาต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งเกี่ยวกับคำแถลงของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 23กันยายน 2540 ว่า กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลที่ได้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นเป็นศาลที่มีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงให้คืนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป และศาลฎีกามีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 3 ฉบับลงวันที่ 10เมษายน 2541 ว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่เข้าใจว่าจำเลยที่ 3 มีความประสงค์จะให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงบางประการอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งปฏิเสธการร้องขอดังกล่าวเช่นนี้ จำเลยที่ 3 ชอบที่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ จึงให้คืนสำนวนไปเพื่อดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว และให้นัดพร้อมเพื่อสอบถามคู่ความ ในวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามคู่ความ ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำสั่งว่าจำเลยทั้งหลายได้หยุดการทำละเมิดวันเวลาใด เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณา ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องไต่สวนพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า จำเลยดังกล่าวทำละเมิดลิขสิทธิ์ จำเลยดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ย่อมแสดงว่าฝ่ายจำเลยยังมิได้ยอมรับในผลแห่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกทั้งต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ฝ่ายจำเลยก็ยังมิได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ เมื่อฝ่ายโจทก์ยื่นฎีกา ฝ่ายจำเลยก็ยังยื่นคำแก้ฎีกาว่ามิได้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ อันควรจะรับฟังว่าจำเลยได้หยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะด้วยการหยุดการผลิตหรือหยุดการจำหน่ายก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังได้ว่าจำเลย (หมายถึงจำเลยที่ 1และที่ 3) ได้หยุดการทำละเมิด ณ วันที่ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไปโดยไม่จำต้องทำการไต่สวนพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยก่อน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1และที่ 3 (ที่ถูกคำแถลงของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 23 กันยายน 2540)แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ในชั้นนี้คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ว่า กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนคำแถลงของจำเลยที่ 1และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 23 กันยายน 2540 ก่อนมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้หยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และที่ 4 เมื่อใดหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 23 กันยายน 2540 ต่อศาลชั้นต้นยืนยันว่าศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับระบุจำนวนเงินค่าเสียหายรายเดือนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องชำระไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้หยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2และที่ 4 สำหรับปากกาติ๊กแต๊กหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2532 แล้ว แต่โจทก์ที่ 1 ที่ 2และที่ 4 แถลงคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิ่งหยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ของฝ่ายโจทก์เมื่อวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คือวันที่ 1 มีนาคม 2538 เมื่อต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นที่ยุติอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ที่ศาลชั้นต้นอ้างว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ชนะคดี ฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ฝ่ายโจทก์ยื่นฎีกา ฝ่ายจำเลยก็ยื่นคำแก้ฎีกาว่ามิได้ทำละเมิดลิขสิทธิ์ของฝ่ายโจทก์ จึงไม่มีเหตุผลที่จะฟังว่าฝ่ายจำเลยได้หยุดทำละเมิดลิขสิทธิ์ก่อนวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นอ้างดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นเหตุผลให้รับฟังว่าฝ่ายจำเลยเพิ่งหยุดทำละเมิดลิขสิทธิ์นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ฝ่ายจำเลยใช้สิทธิตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติไว้เท่านั้น มิได้หมายความว่าหลังจากใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวแล้วฝ่ายจำเลยจะต้องทำละเมิดลิขสิทธิ์ของฝ่ายโจทก์ตลอดมา เพราะฝ่ายจำเลยอาจไม่กล้าเสี่ยงที่จะดำเนินธุรกิจที่มีข้อพิพาทนี้ต่อไปหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้แล้วก็ได้ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายให้สินกระแสความเสียก่อน แล้วจึงมีคำสั่งในเรื่องนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีนั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 หยุดการทำละเมิด ณ วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา (วันที่ 1 มีนาคม 2538) มาด้วยนั้น ยังไม่ถูกต้อง เห็นสมควรให้แก้ไขให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 หยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ณ วันที่ 1 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์