โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 5, 30, 31, 32, 45 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 5, 30, 31, 32, 45 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำสุรากลั่น จำคุก 2 เดือน ปรับ 5,000 บาท ฐานมีสุรากลั่น จำคุก 2 เดือน ปรับ 5,000 บาท ฐานขายสุรากลั่น จำคุก 2 เดือน ปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 7,500 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังมีกำหนด 3 เดือนแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานมีสุรากลั่น ปรับ 1,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 500 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานทำสุรากลั่นและฐานขายสุรากลั่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วรวมจำคุก 2 เดือนและปรับ 5,500 บาท ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการที่จำเลยมีและขายสุรากลั่นจำนวนและปริมาณตามฟ้อง ขัดแย้งกันเนื่องจากหากจำเลยมีสุรากลั่นไว้ในครอบครองย่อมแสดงว่าจำเลยไม่ได้ขายสุรากลั่นดังกล่าว หรือหากจำเลยขายสุรากลั่นไปแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสุรากลั่นไว้ในครอบครองอีก ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นที่เข้าใจได้แล้วว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยทำสุรากลั่นบรรจุถังพลาสติก 4 ใบ บรรจุถุงพลาสติก 7 ถุง บรรจุแกลลอน 20 ใบ ปริมาณ 592 ลิตร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยมีสุรากลั่นจำนวนและปริมาณดังกล่าวไว้ในครอบครองจากนั้นจำเลยขายสุรากลั่นจำนวนและปริมาณดังกล่าว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการกระทำในคราวเดียวและต่อเนื่องกัน กล่าวคือเมื่อจำเลยทำสุรากลั่นแล้ว จำเลยมีสุรากลั่นดังกล่าวไว้ในครอบครอง จากนั้นจำเลยขายสุรากลั่นนั้น การกระทำความผิดของจำเลยสำเร็จไปในแต่ละขั้นตอนของการกระทำแต่ละครั้ง หาได้ขัดแย้งกันหรือขัดต่อเหตุผลแต่ประการใดไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายประการต่อมาว่า สุรากลั่นของกลางที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องทั้งสามข้อ เป็นสุรากลั่นจำนวนเดียวกัน เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ทำสุรากลั่นดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ต้องมีสุราที่จำเลยเป็นผู้กลั่นไว้ในครอบครอง เพราะเป็นผลผลิตที่จำเลยได้ทำขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำอันเกิดจากเจตนาและการกระทำอันเดียวกันต่อเนื่องกัน หาใช่มีเจตนาแตกต่างกันไม่ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทไม่ใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า แม้สุรากลั่นของกลางคดีนี้จะเป็นจำนวนเดียวกัน แต่ก็เห็นได้ว่าในความผิดแต่ละฐานต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดที่แตกต่างกันและสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ และพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 5, 30, 32 บัญญัติความผิดและบทลงโทษฐานทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายไว้คนละมาตรากัน ดังนั้น การที่จำเลยทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรากลั่นนั้นจึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่งสำหรับความผิดฐานขายสุรานั้น ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 31 มีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท สำหรับมาตรา 30 เป็นบทบัญญัติความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 5 คือ การทำสุรา หรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และถ้าได้ขายสุราที่ทำขึ้นนั้นด้วยต้องระวางโทษหนักขึ้น เป็นบทเพิ่มโทษจากการทำสุราเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่บทบัญญัติให้การขายสุราที่ทำขึ้นเป็นความผิดตามมาตรานี้อีกบทหนึ่ง ดังนั้น ที่จำเลยขายสุรากลั่นที่จำเลยทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30 แต่เป็นความผิดตามมาตรา 31 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดนี้ จำคุก 2 เดือน ปรับห้าพันบาท เป็นการลงโทษเกินกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225"
พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยฐานขายสุรากลั่นปรับ 5,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ 2,500 บาท รวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว เป็นจำคุก 1 เดือน ปรับ 5,500 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5