ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีล้มละลายของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลต่างประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน
อำนาจของผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งประเทศอังกฤษจะเป็นไปตามกฎหมายของประเทศใดย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติถึงเรื่องอำนาจของผู้จัดการมรดกว่าต้องใช้กฎหมายใดบังคับ กรณีจึงต้องใช้กฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับ ซึ่งตามกฎเกณฑ์ทั่วไปนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับอาจเป็นกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายภูมิลำเนา เมื่อโจทก์มีสัญชาติอังกฤษและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้หลักกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายภูมิลำเนา กฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมได้แก่กฎหมายแห่งประเทศอังกฤษแต่การที่ต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่กรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่ากฎหมายต่างประเทศนั้นบัญญัติไว้อย่างไร เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นเป็นที่ชัดแจ้งว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษบัญญัติไว้เช่นนั้นจริง กรณีนี้จึงต้องใช้กฎหมายภายในประเทศไทยบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 บัญญัติถึงเรื่องการที่บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ถ้าผู้จัดการมรดกบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลร่วมกับจ. จึงไม่อาจนำมาตรา 1715 มาใช้บังคับได้เมื่อ จ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์เพียงคนเดียวจะฟ้องคดีนี้ต่อไปตามลำพังโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153