โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 334, 335 และ 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 575,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334, มาตรา 335(1) วรรคแรก, 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 30 กระทง เป็นจำคุก 30 ปี ฐานฉ้อโกงจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 31 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงลงโทษจำคุก 23 ปี 3 เดือน แต่ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมทั้งสิ้น 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 575,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกับพวกตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปลักทรัพย์ 25 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคแรก และมีความผิดฐานร่วมกับพวกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปลักทรัพย์ในเวลากลางคืน 5 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 30 กระทง เป็นจำคุก 30 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 575,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงเพราะได้มีการสอบสวนในข้อหาความผิดดังกล่าวแล้วหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์นำสืบว่า เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทอาภากร โกมลสุทธิ พนักงานสอบสวนร้อยตำรวจโทอาภากรได้แจ้งข้อหาจำเลยว่าลักทรัพย์รับของโจรและฉ้อโกงแล้วได้สอบคำให้การของฝ่ายผู้เสียหายไว้ ต่อมาเมื่อจับกุมจำเลยได้ก็ได้สอบคำให้การจำเลย เห็นว่าตามบันทึกคำให้การของนางจันทร์เพ็ญ พุฒิวรชัย ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.13ร้อยตำรวจโทอาภากรได้สอบคำให้การนางจันทร์เพ็ญ กรณีที่จำเลยใช้สมุดคู่ฝากถอนเงินสดจำนวน 10,000 บาท ไปจากผู้เสียหายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง และตามบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.15จำเลยก็ให้การรับว่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 จำเลยได้ใช้สมุดคู่ฝากถอนเงินสดจำนวน 10,000 บาท ไปจากผู้เสียหายจริง แสดงให้เห็นว่าร้อยตำรวจโทอาภากรได้สอบสวนในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงด้วยแล้วแม้ว่าร้อยตำรวจโทอาภากรจะเบิกความตอบคำถามค้านว่าข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้มีการสอบปากคำว่าจำเลยได้ไปฉ้อโกงหรือหลอกลวงผู้ใดก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญเพราะการสอบสวนพนักงานสอบสวนจะสอบสวนมากน้อยเพียงใดก็หาต้องด้วยข้อห้ามตามกฎหมายไม่ จึงถือได้ว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกงโดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง
ปัญหาประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงโดยวินิจฉัยว่า ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกงโดยชอบ ต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โดยศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฉ้อโกง ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อหานี้ให้ครบถ้วนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์