โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากเรือนที่เช่าและเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าจำเลยทำการดัดแปลงแบ่งแยกเรือนที่เช่าและให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยต่อสู้หลายประการ ในที่สุดโจทก์ จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน มีข้อความว่า "ข้อ 1. จำเลยและบริวารยอมออกจากสถานที่เช่าภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2490 ข้อ 2. ฝ่ายโจทก์ยอมให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างขึ้น แต่ตัวเรือนใหญ่ซึ่งมีอยู่ก่อนจำเลยเข้ามาเช่า จำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ ข้อ 3. ฝ่ายโจทก์จะชำระเงินให้จำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท(หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) เมื่อจำเลยและบริวารออกไปจากสถานที่แล้ว ข้อ 4. ฯลฯ" ศาลได้บังคับคดีตามยอมแล้ว จำเลยหาได้ออกไปจากสถานที่เช่าไม่ จนศาลมีหมายจับจำเลยมากักขังไว้ จำเลยจึงยอมรับว่าจะปฏิบัติตามคำบังคับ แต่บริวารของจำเลยยังหาออกไปจากสถานที่เช่าไม่ ยังคงยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาล ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม2492 จำเลยยื่นคำแถลงว่า ได้ออกจากสถานที่เช่าแล้ว โจทก์กลับไม่ยอมให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม่ชำระเงินให้จำเลยตามยอมขอให้ศาลบังคับโจทก์ ศาลชั้นต้นนัดสอบถามจำเลย ๆ แถลงว่า ได้ออกจากที่เช่าเกินกำหนดเวลาจริง นับจากวันยอมจนออกไป เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น ที่สั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามยอมข้อ 2-3 โดยอ้างว่า จำเลยได้ออกจากที่เช่าตามยอมแล้ว
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ตามสัญญายอมความและพฤติการณ์ที่เป็นมาในเรื่องนี้ พึงเห็นได้ว่าการที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินหนึ่งหมื่นบาทให้จำเลยและการที่โจทก์ยอมให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ทั้ง 2 อย่างนี้มิได้ขึ้นอยู่กับการที่จำเลยได้ออกจากที่เช่าไปแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่หากขึ้นอยู่กับการที่จำเลยและบริวาร "ยินยอม" ออกไปจากสถานที่เช่า หรือนัยหนึ่งสมัครใจออกไปจากสถานที่เช่าด้วย แต่พฤติการณ์ในเรื่องนี้เห็นได้ชัดว่า จำเลยและบริวารมิได้ยินยอมหรือสมัครใจออกไปจากสถานที่เช่าตามที่ได้ทำสัญญายอมไว้ จำเลยจึงไม่มีทางที่จะบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญายอมนั้น แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงในการที่จำเลยจะใช้สิทธิทางอื่น (ถ้าหากมี) ในอันที่จะรื้อสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทำขึ้น พิพากษากลับ ให้ยกคำแถลงของจำเลย