โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรของนายบุตรและนางผาง นายบุตรตายก่อน ส่วนนางผางตายเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๕ มีทรัพย์มรดก ๗ อย่างเป็นที่ดิน เรือนและยุ้งข้าว ขอให้พิพากษาแบ่งมรดกแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ทรัพย์มรดกของนางผาง โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งเนื่องจากนางผางทำพินัยกรรมยกทรัพย์บางอย่างตามฟ้องให้จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยท้าขอให้ศาลวินิจฉัยแต่เพียงว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.๑ ถูกต้องใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าพินัยกรรมถูกต้องมีผลใช้ได้ตามกฎหมายโจทก์ต้องแพ้คดี ถ้าพินัยกรรมไม่ถูกต้องไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยต้องแพ้คดีโจทก์ยอมรับว่ามีการทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.๑ ดังที่จำเลยแถลงและโจทก์ยอมรับคำท้าของจำเลยที่จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่ท้ากันเพียงอย่างเดียว คู่ความยอมสละประเด็นอื่นเสียทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทเอกสารหมาย ล.๑ เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ นอกจากนางผางลงลายพิมพ์นิ้วมือในฐานะผู้ทำพินัยกรรมแล้ว ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำพินัยกรรมลงนามในพินัยกรรมต่อไปตามลำดับ ดังนี้คือนางบุญมีลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานรับรองพินัยกรรม นายสายลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองพินัยกรรม และนางเพ็งลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่ในบรรทัดสุดท้ายของพินัยกรรมด้วย ถึงแม้การลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานรับรองพินัยกรรมของนางบุญมีะไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ และ ๑๖๖๖ ก็ตามถึงหากจะตัดนางบุญมีพยานรับรองพินัยกรรมออกไปเสียคนหนึ่ง พินัยกรรมนี้ก็ยังมีนางเพ็งลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่อยู่อีกคนหนึ่ง ปัญหาวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่า นายเพ็งจะเป็นพยานในพินัยกรรมนี้ด้วยหรือไม่ เห็นว่า พินัยกรรมมีข้อความดังนี้คือ" ข้าพเจ้านางผาง ขอทำพินัยกรรมต่อหน้าผู้ปกครองท้องที่และพยานดังต่อไปนี้ ฯลฯ
ข้อ ๓. ข้อความตามพินัยกรรมนี้ผู้เขียนได้อ่านให้ข้า ฯ ฟังโดยตลอดแล้วเป็นการถูกต้องตรงกับความประสงค์ของข้า ฯ ทุกประการ ขณะทำพินัยกรรมนี้ข้า ฯ มีสติสมบูรณ์ดีจึงลงชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ" ประกอบกับฎีกาของโจทก์เองก็รับว่านายเพ็งได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่เป็นผู้รู้เห็นในการทำพินัยกรรมฉบับนี้มาแต่ต้น ดังนี้การที่นางเพ็งได้อยู่รู้เห็นการทำพินัยกรรมของนางผาง มาแต่ต้นจนกระทั่งนางผางลงลายพิมพ์นิ้วมือในฐานะผู้ทำพินัยกรรมต่อหน้านางสาย พยานรับรองพินัยกรรมที่สมบูรณ์คนหนึ่งแล้ว นางเพ็งจึงได้ลงลายมือชื่อของตนในฐานะผู้ปกครองท้องที่ไว้ในบรรทัดสุดท้ายของพินัยกรรมด้วย เช่นนี้ แม้จะไม่ได้เขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อของนายเพ็งด้วย ก็ถือได้ว่านางเพ็งเป็นพยานรับรองพินัยกรรมอีกคนหนึ่ง เพราะพยานในพินัยกรรมนั้นไม่จำต้องเขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อ เป็นแต่เพียงมีข้อความให้เห็นได้ว่าเป็นพยาน ก็ถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรม ในเมื่อพินัยกรรมฉบับนี้มีพยานครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย ๒ คน คือ นายสาย กับนายเพ็ง โดยพยาน ๒ คนนี้ ลงลายมือชื่อเป็นพยานขณะนางผางทำพินัยกรรมจึงไม่จำต้องลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางผางอีกหนหนึ่งเพราะถือได้ว่าพยานทำหน้าที่สองฐานะคือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙, ๑๖๖๕ และตามมาตรา ๑๖๕๖ ดังนั้นพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.๑ จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
ส่วนฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่า โจทก์เป็นฝ่ายรับคำท้าแต่ไม่ได้รับรองว่ามีการทำพินัยกรรมจริงหรือไม่นั้น ปัญหาข้อนี้ โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาจึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง และฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายที่ว่าพินัยกรรมแบบธรรมดาจะต้องมีลายมือชื่อผู้เขียนกำกับไว้และระบุด้วยว่าเป็นผู้เขียน ดังนั้นประเด็นดังกล่าวน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยลึกซึ่ง นั้น ก็เป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างใด เพียงแต่เสนอความเห็นว่าน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ให้ลึกซึ่งเท่านั้นเองเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ฉะนั้น ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ดังนั้นเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าพินัยกรรมของนางผาง ป่าหญ้า เอกสารหมาย ล.๑ สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๖ มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า
พิพากษายืน