โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ ป.๘๒๙๖ ไว้กับจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ต่อมาวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ได้เปลี่ยนเป็นบัญชีเลขที่ ป.๑๔๒๔๓ โจทก์นำเงินเข้าฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นระยะ ๆ จนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๓ โจทก์มีเงินฝากประจำกับจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม เป็นเงิน ๓๑,๒๔๗,๐๕๖.๑๖ บาท ตกลงฝากประจำมีกำหนด ๕ ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ถึงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับแต่งตั้งให้ร่วมกันเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำกิจการต่าง ๆ แทนโจทก์ได้ ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าววันเวลาใดไม่ปรากฏขัด จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันทำให้เสียหายทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน ปลอมเอกสาร ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของโจทก์ เพื่อให้โจทก์ ผู้เป็นหุ้นส่วนและผู้ถือหุ้นของโจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้จากทรัพย์สินข้างต้น กล่าวคือ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ประกอบธุรกิจทำไร่อ้อยและจำเลยที่ ๓ ในฐานะส่วนตัวได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ตามบัญชีเลขที่ ๙๒๐ แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยทุจริตโดยปราศจากอำนาจ อาศัยตำแหน่งผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ในใบถอนเงิน มอบให้ผู้จัดการจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐมเพื่อให้มีอำนาจกรอกข้อความโอนเงินฝากประจำของโจทก์ ตามบัญชีเลขที่ ป.๑๔๒๔๓ ไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๙๒๐ ของจำเลยที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๓จำเลยร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์กล่าวคือ จำเลยรู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำกิจการแทนโจทก์ แต่บังอาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ในใบถอนเงินถอนเงินฝากประจำของโจทก์บัญชีเลขที่ ป.๑๔๒๔๓ จำนวนเงิน ๓๑,๒๔๗,๐๕๖.๑๖ บาท แล้วโอนไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๙๒๐ ของจำเลยที่ ๓ โดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้พ้นตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๓ การโอนเงินดังกล่าวผู้จัดการสาขาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้มีอาชีพหรือประกอบธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะพึงกระทำ การที่จำเลยร่วมกันทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเป็นการยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ด้วย โจทก์ได้รับความเสียหายดังนี้ต้องสูญเสียเงินจำนวน ๓๑,๒๔๗,๐๕๖.๑๖ บาท ที่ฝากประจำไว้ ขาดดอกเบี้ยที่ได้รบจากเงินฝากประจำดังกล่าวตั้งแต่วันฝากในแต่ละยอดเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับเงินฝากประจำคืน คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒,๓๕๘,๖๑๑.๕๓ บาท และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงในการดำเนินกิจการ เพราะถูกสำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ เข้าควบคุมกิจการดำเนินงานหรือสั่งให้หยุดดำเนินงานได้ เนื่องจากโจทก์ดำเนินกิจการประกันภัยอันเป็นกิจการที่ต้องได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน ทำให้โจทก์ไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนและสำนักงานประกันภัย ทำให้รายได้จากกิจการของโจทก์ตกต่ำไป และจำนวนเงินดังกล่าว โจทก์ยังสามารถหารายได้ด้วยการนำไปฝากประจำไว้กับแหล่งเงินทุนอื่น หรือหมุนหาประโยชน์ได้คิดเป็นเงินจำนวนมากจึงขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน ๖๐ ล้านบาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามฟ้องรวมเป็นเงิน ๙๙,๖๐๕,๖๖๗.๖๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า นายสมชาย ชวาลตันพิพัทธ์ และนายสมพงษ์ชวาลตันพิพัทธ์ จะมีอำนาจดำเนินกิจการแทนโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ ๑ ไม่ทราบและไม่รับรอง แม้คนทั้งสองดังกล่าวจะเป็นกรรมการของโจทก์ก็เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ ๑ หรือผู้จัดการจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม มิได้กระทำผิดหน้าที่ของธนาคารโดยทุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จะพึงกระทำ และมิได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำเอกสารปลอม หรือร่วมกันยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ทำความเสียหายให้แก่โจทก์ดังที่กล่าวอ้างในฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ ๑ หรือผู้จัดการจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ในการถอนเงินฝากประจำจำนวน ๓๑,๒๔๗,๐๕๖.๑๖ บาท เป็นการกระทำที่สุจริต ได้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์ และเป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงและความประสงค์ของโจทก์ที่ให้ถอนเงินดังกล่าวเอาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ได้ตลอดมาอยู่แล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จริงก็เป็นความบกพร่องและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ที่ไม่แจ้งให้จำเลยที่ ๑ หรือผู้จัดการจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐมทราบทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลง มีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตหลายประการที่โจทก์สมคบกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปิดบังขอความจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงอันควรที่จะต้องให้จำเลยที่ ๑ ทราบทันที กลับปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงพ้นมา และในระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ยังยอมให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันมีอำนาจกระทำแทนโจทก์ได้ตลอดเวลา ฉะนั้นหากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน ปลอมเอกสารอันเป็นหลักประกันของโจทก์จริง ก็ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๑ การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ลงในใบถอนเงินฝากประจำตามบัญชีเลขที่ ป.๘๒๙๖ และเลขที่ ป.๑๔๒๔๓ โดยชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของโจทก์และต้องตามความประสงค์ของโจทก์ซึ่งได้ทำไว้กับจำเลยที่ ๑ แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินฝากประจำตลอดจนค่าเสียหายตามฟ้อง และฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยทั้งสองเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์ แต่อำนาจดังกล่าวได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๓ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ทราบก่อนที่จะมีเหตุอันเป็นมูลพิพาทในคดีนี้ ในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๓ จำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ขอถอนเงินจำนวน ๓๑,๒๔๗,๐๕๖.๑๖ บาท จากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ ป. ๑๔๒๔๓ ของโจทก์ เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๙๒๐ ของจำเลยที่ ๓ การถอนและโอนเงินดังกล่าวจำเลยที่ ๑ โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ได้ปลอมเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองและประทับตราสำคัญของโจทก์ แต่ยังมิได้กรอกข้อความ ซึ่งมอบให้แก่ฝ่ายจำเลยที่ ๑ ไว้เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจของโจทก์มิได้มอบให้ไว้เพื่อถอนเงินและโอนเงินไปเข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๙๒๐ ของจำเลยที่ ๓ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้เงินจำนวน ๓๑,๒๔๗,๐๕๖.๑๖ บาแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี โดยคิดคำนวณตามวิธีการและธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารนับแต่วันฝากในแต่ละยอดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จจำนวนหนึ่งแต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน ๒,๓๕๘,๖๑๑.๕๓ บาท กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวนเงินยี่สิบสามล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอีกจำนวนหนึ่ง
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน ๘ ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินจำนวนนี้เสร็จ กับให้จำเลยที่ ๑ ชำระให้โจทก์อีกปีละ ๔ ล้านบาททุก ๆ หนึ่งปีพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่จะต้องชำระเงินแต่ละยอดจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๓ จำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจยกระทำการแทนโจทก์แล้ว ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในใบถอนเงินฝากประจำทำการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ แล้วโอนไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ ๓ อันเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ และเป็นการยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียเงินฝากประจำ ขาดดอกเบี้ยที่จะได้รับจากเงินฝากประจำ และต้องเสียชื่อเสียงในการดำเนินกิจการ ขอให้จำเลยร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประเด็นข้อต่อไปว่า จำเลยที่ ๑ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อาศัยตำแหน่งผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในใบถอนเงินฝากของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ตามบัญชีเลขที่ ป.๑๔๒๔๓ มอบไว้แก่ผู้จัดการจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม เพื่อให้มีอำนาจกรอกข้อความโอนเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๙๒๐ ของจำเลยที่ ๓ อันเป็นการที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับนายชัยยะ จูฑะพุทธิ ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ ในการดำเนินคดีนี้เบิกความว่าจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม รายงานสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ ๑ ขออนุมัติทำสัญญาขายลดเช็คกับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ อนุมัติให้ทำได้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้จำเลยที่ ๓ จัดให้โจทก์ทำใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ ป.๘๒๙๖ และ ป.๑๔๒๔๓ เท่าจำนวนเงินฝากที่มีอยู่ในบัญชี จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในใบถอนเงินมอบให้จำเลยที่ ๑ ไว้ตามข้อตกลงซึ่งกรรมการของโจทก์ทุกคนทราบ ทั้งกรรมการของโจทก์ทุกคนทำสัญญาค้ำประกันการขายลดเช็คของจำเลยที่ ๓ ด้วย ตามเอกสารหลาย ล.๓๙๖ ถึง ล.๔๒๒ คำของนายชัยยะดังกล่าวมีนายสมนึกผู้จัดการจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม เบิกความสนับสนุน และนายสมนึกเบิกความด้วยว่าใบถอนเงินฝากประจำฉบับดังกล่าวซึ่งเป็นฉบับพิพาท คือเอกสารหมาย จ.๑๓๓ (หรือ จ.๓๙ ซึ่งเป็นสำเนา) ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๓๙๖, ๓๙๘, ๔๐๐, ๔๐๒ และ ๔๐๔ ว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๒ นายสมชาย นางสาวนิภาพร นายสมศักดิ์ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และนายสุรพงษ์ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์ตามลำดับ ทำสัญญาค้ำประกันการขายลดตั๋วเงินที่จำเลยที่ ๑ รับซื้อจากจำเลยที่ ๓ ภายในวงเงินไม่เกินจำนวนเงินในสมุดฝากประจำเลขที่ ป.๘๒๙๖ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ นายสมชายกับพวกทั้งห้าดังกล่าวได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๒ ความว่านายสมชายกับพวกยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้อันเกิดจากการขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ ๓ ต่อจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ภายในวงเงินไม่เกินจำนวนเงินในสมุดฝากประจำเลขที่ ป.๘๒๙๖ และ พ.๑๔๒๔๓ ตามเอกสารหมาย ล.๓๙๗, ๓๙๙, ๔๐๑, ๔๐๓ และ ๔๐๕ ทั้งนายสมพงษ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในขณะนั้นอีกคนหนึ่ง ก็ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้อันเกิดจากการขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ ๓ ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๒ และในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ พร้อมนายสมชายกับพวกด้วยตามเอกสารหมาย ล.๒๐ และ ล.๒๑ โดยมีข้อความทำนองเดียวกันข้อเท็จจริงเชื่อว่า กรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทุกคนรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำใบถอนเงินฝากประจำของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๑๓๓ โดยมิได้ลงวันถอนมอบให้จำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้อันเกิดจากการขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ ๓ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ ๑ ลงวันเดือนปีในใบถอนเงินฉบับดังกล่าวแล้วใช้หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ ป.๑๔๒๔๓ ของโจทก์ โอนไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ ๙๒๐ เพื่อชำระหนี้ อันเกิดจากการขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ ๓ จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะถือได้ว่าโจทก์ยินยอมหรือสมัครใจให้ทำเช่นนั้น แม้จำเลยที่ ๑จะได้กระทำภายหลังที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ขอยกเลิกลายเซ็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งมีอำนาจถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ก็ตามและเมื่อโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อค้ำประกันหนี้ผู้อื่น การที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำใบถอนเงินฝากประจำของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๑๓๓ มอบให้จำเลยที่ ๑ สาขานครปฐม ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำนอกขอบวัตถุที่ประสงค์ของโจทก์ จึงไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ ๑ สาขานครปฐมไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ ป.๑๔๒๔๓ ของโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๓๑,๒๔๗,๐๕๖.๑๖ บาทแก่โจทก์โดยนำเข้าบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ ป.๑๔๒๔๓ ของโจทก์ เป็นทอด ๆ ตามรายการและรายละเอียดที่ปรากฏในบัญชีดังกล่าว กับให้จำเลยที่ ๑ ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับยอดเงินที่ฝากครบ ๕ ปี ตามเงื่อนไขในสมุดคู่ฝากเงินประจำด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ