โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่พิพาทเป็นของนายเชย นางเหมือน ซึ่งเป็นปู่และย่าของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ก่อนถึงแก่กรรมบุคคลทั้งสองยกที่พิพาทให้โจทก์แต่ผู้เดียวส่วนจำเลยทั้งสามต่างแยกย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ต่อมาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กลับมาขออาศัยโจทก์ปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาท เมื่อโจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน จำเลยทั้งสามคัดค้านขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามถอนคำร้องคัดค้าน หากไม่ถอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาท
จำเลยทั้งสามให้การว่านายเชยได้ยกที่พิพาทให้นางเชยมารดาโจทก์จำเลยทั้งสามโจทก์จำเลยทั้งสามได้อาศัยกับมารดาตลอดมา ต่อมาโจทก์มีสามีจึงพากันไปอยู่ที่อื่นส่วนจำเลยทั้งสามคงอยู่กับมารดา ก่อนมารดาถึงแก่กรรม มารดาได้ยกที่พิพาทให้บุตรทุกคน หลังจากมารดาถึงแก่กรรม โจทก์กับสามีใหม่กลับมาปลูกบ้านอาศัยในที่พิพาทต่อมาโจทก์ขอออก น.ส.๓ ที่พิพาทเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียว จำเลยทั้งสามจึงคัดค้านขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมในที่พิพาทหนึ่งในสี่ส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าที่พิพาทเป็นมรดกของนางเชยมารดาโจทก์จำเลยทั้งสาม ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสามมีสิทธิในที่พิพาทอยู่หรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่างมีบ้านพักอาศัยคนละหลังในที่พิพาทจนกระทั่วทุกวันนี้ซึ่งโจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ ปลูกบ้านในที่พิพาทได้ ๗-๘ ปีแล้ว จำเลยที่ ๒ ปลูกประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๓ เห็นว่าการที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีบ้านปลูกอยู่ในที่พิพาทใช้อยู่อาศัย ทั้งที่ดินที่ปลูกบ้านก็เป็นที่ดินมรดกและไม่ปรากฏว่าต้องชำระค่าใช้ที่ดินที่ปลูกบ้านให้ผู้ใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต่างถือสิทธิว่าตนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของที่พิพาทสำหรับจำเลยที่ ๓ นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ไม่มีบ้านปลูกอยู่ในที่พิพาท แต่ก็เคยอาศัยอยู่ในบ้านของจำเลยที่ ๒ จนกระทั่งมีสามีและเพิ่งย้ายออกจากที่พิพาทไปอยู่กับสามีได้ ๗-๘ ปี จึงต้องถือว่าโจทก์จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งแทนจำเลยที่ ๓ ด้วย และไม่ถือว่าจำเลยที่ ๓ ถูกแย่งการครอบครองที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ จำเลยที่ ๓ คงมีสิทธิในที่พิพาท ๑ ใน ๔ ส่วนเท่ากับส่วนของโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน