โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับการแต่งตั้งจากสหภาพแรงงานอาเชี่ยนการ์เมนท์ให้เป็นกรรมการลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิมหรือจ่ายเงินแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536 โจทก์ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการลูกจ้างเนื่องจากจำนวนกรรมการลูกจ้างยังไม่ครบทั้งคณะ โจทก์ขาดงานสามวันติดต่อกัน จำเลยทำบันทึกการให้ถ้อยคำเรื่องการกระทำผิดวินัยของโจทก์ให้โจทก์รับทราบไว้ ต่อมาโจทก์ยังขาดงานอีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536 จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและให้จ่ายค่าจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาวินิจฉัยมีว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า กรณีที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งกรรมการลูกจ้าง กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องแจ้งให้นายจ้างทราบแตกต่างกับการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้าง ซึ่งมีประกาศกรมแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งคณะกรรมการลูกจ้างลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2518 ข้อ 17 กำหนดว่าให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งแจ้งให้นายจ้างและพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานแห่งท้องที่สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ได้ทราบโดยไม่ชักช้าว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการลูกจ้าง และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิได้บัญญัติว่า กรรมการลูกจ้างที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่เมื่อใดแต่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 47 บัญญัติว่า"กรรมการลูกจ้างอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี แต่อาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งใหม่ได้" ศาลฎีกาเห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่ากรรมการลูกจ้างที่ได้รับแต่งตั้งจากสหภาพแรงงาน เป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้ง สหภาพแรงงานอาเชี่ยนการ์เมนท์แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างวันที่ 3 มีนาคม 2536 โดยแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างรวม 6 คนตามที่กฎหมายกำหนด แม้จะยังไม่มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างอีก 5 คน โจทก์ก็เป็นกรรมการลูกจ้างตั้งแต่วันดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 52 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น..."
พิพากษายืน