ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแปลงหนี้และการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: การเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
แม้ พ. จะเป็นภรรยาเจ้าหนี้ แต่หนี้ที่ลูกหนี้มีต่อ พ. กับหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้เป็นหนี้ต่างรายกัน และเป็นเจ้าหนี้คนละคน ฉะนั้น การนำเอาหนี้ที่มีต่อ พ.มาแถลงเป็นหนี้ของเจ้าหนี้จึงเป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ซึ่งต้องบังคับตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา349 วรรคท้าย แต่คู่กรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้น การแปลงหนี้ตามเช็คในส่วนของพ. มาเป็นหนี้เงินกู้ของเจ้าหนี้ จึงไม่สมบูรณ์ เจ้าหนี้จะนำเอาหนี้จำนวนนี้มารวมกับหนี้ของเจ้าหนี้เพื่อขอรับชำระหนี้ด้วยไม่ได้
หนี้ตามเช็คที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ แม้ว่าเช็คจะไม่ได้ลงวันที่ แต่ลูกหนี้ก็เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่จริง เมื่อมีหนี้ต่อกันแล้วคู่กรณีก็อาจแปลงหนี้ให้เป็นหนี้เงินกู้ได้ หนี้ตามสัญญากู้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จึงมีผลสมบูรณ์
คดีพิพาทกันด้วยเรื่องคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นกฎหมายพิเศษอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 มาตรา 11 ฉะนั้นค่าขึ้นศาลชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจึงต้องเสียอัตราครั้งละสองร้อยบาท จะเรียกค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไม่ได้ และจะเรียกเพียง 50 บาทอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ก็ไม่ได้ เพราะกรณีไม่ใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง