โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ปลูกสร้างตึกแถว 3 ชั้น เลขที่ 572 ถึง 579 รวม8 ห้อง ลงบนที่ดินโฉนดที่ 918 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัด อ้างว่าโจทก์สร้างอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอม ขอให้รื้อถอนไป โจทก์ต่อสู้คดี แต่จำเลยที่ 1ได้หลอกลวงโจทก์ว่า ถ้าโจทก์ยินยอม รื้อตึก 2 ห้อง เลขที่ 578, 579 ออกแล้วจะทำให้ถนนซอยมีขนาดกว้าง ฯลฯ โจทก์หลงเชื่อจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยยอมรื้อตึกพิพาทออกไปภายใน 60 วัน ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายให้แก่จำเลยที่ 2 เปิดเป็นธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาสำโรง จำเลยที่ 1 ว่าจะขอชดเชยค่าอิฐหักกากปูนให้โจทก์ 20,000 บาทโจทก์ไม่ยอมตกลง เพราะตึกเป็นของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 นำไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรู้เรื่องราวเกี่ยวกับตึกนี้ดี จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองตึกพิพาท จึงได้ชื่อว่าสมคบกันละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอศาลบังคับให้จำเลยที่ 2 ออกไปจากตึกพิพาท และให้จำเลยที่ 1 มอบคืนแก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถปฎิบัติได้ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 600,000 บาท แก่โจทก์ ฯลฯ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อครบกำหนด 60 วันตามที่ตกลง โจทก์ขอผัดผ่อนการรื้อถอนไปอีก แล้วโจทก์ได้เจรจากับผู้แทนของจำเลยที่ 1 โดยจะขอรับค่าอิฐหักกากปูนและค่าวัสดุบางอย่างแทนการรื้อถอนตึกพิพาทเป็นเงิน20,000 บาท ผลที่สุดตกลงกันโดยโจทก์ขอรับค่าอิฐหักกากปูนและค่าวัสดุบางอย่างแทนการรื้อถอนจากจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของอาคารพิพาท อาคารพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยได้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้จดทะเบียนสิทธิไว้โดยสุจริต ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่918 และโฉนดที่ 919 ซึ่งมีเขตติดต่อกัน โจทก์ได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เพื่อทำการก่อสร้างตึกแถวและตลาดสดลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โจทก์ก่อสร้างตึกแถวตามสัญญา ซึ่งรวมทั้งตึกแถวรายพิพาท จำเลยที่ 1 ได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยอ้างว่า โจทก์ก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวลงในบริเวณที่ดินโฉนดที่ 918 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์รื้อตึกแถว 8 ห้องนั้นออกจากโฉนดที่ 918 ในที่สุดโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมรื้อตึกแถวพิพาทให้แล้วเสร็จภายใน60 วัน และศาลพิพากษาตามยอม เมื่อครบกำหนด 60 วันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์รื้อตึกแถวรายพิพาทไม่ได้ เพราะโจทก์ให้นายซ้ง แซ่เล้าเข้าอยู่ ต่อมานายซ้งยอมออกจากตึกแถวรายพิพาท แต่ตึกแถวรายพิพาทก็ยังไม่ได้รื้อ โจทก์กับฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้พูดเรื่องค่าอิฐหักกากปูนเกี่ยวกับตึกแถวรายพิพาทกัน แล้วจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพร้อมกับตึกแถวรายพิพาทให้จำเลยที่ 2 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
ในปัญหาที่ว่า โจทก์ได้ยอมรับค่าอิฐหักกากปูนจำนวน 20,000 บาทแทนการรื้อถอนจริงหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเชื่อว่า โจทก์ได้ตกลงยอมรับเงินค่าชดเชยตึกพิพาทนี้เป็นค่าอิฐหักกากปูนจากจำเลยที่ 1 เฉพาะตึกพิพาท 2 ห้องนี้แทนการรื้อถอนโดยโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอะไรอีก
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ตกลงยอมรับเงิน 20,000 บาท ดังกล่าวเป็นค่าอิฐหักกากปูนแทนการรื้อถอน ตึกพิพาท 2 ห้อง ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 918 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าว และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1จึงย่อมนำตึกพิพาทไปโอนขายให้จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยทั้งสองหาได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน