โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์เสียหายโดยประมาท ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 โจทก์เองเป็นฝ่ายประมาท โจทก์มิได้เสียหายจริงดังฟ้อง
โจทก์ไม่สามารถสืบหาที่อยู่จำเลยที่ 2 จึงขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ให้ฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาเฉพาะคู่ความเดิม หมายถึงจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจะต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเฉพาะคู่ความในคดีเดิมเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีนี้มิใช่คู่ความในคดีส่วนอาญา คำพิพากษาในคดีส่วนอาญาก็ไม่มีผลผูกมัดจำเลยที่ 1 จำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไป และเห็นว่าการที่รถโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกิดชนกันขึ้นนั้น เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียว จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 มาใช้เป็นหลักในการกำหนดค่าเสียหายดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยที่ 1