โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,483,821 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 6,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยต่อไปหรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 ฯลฯ (2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ฯลฯ ตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คู่ความที่โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องแสดงเหตุผลที่โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้แต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ไว้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยระบุใจความว่า จำเลยขอโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา จึงเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาไว้แล้ว ที่ศาลชั้นต้นเกษียณสั่งคำแถลงฉบับนี้ว่า รวมเป็นคำแถลงเท่านั้น ย่อมเป็นการสั่งรับคำแถลงนั้น ส่วนที่ศาลชั้นต้นเกษียนสั่งต่อไปว่า "หากจะโต้แย้งคำสั่งศาลจะต้องมีเหตุผลที่อ้างว่าด้วยเหตุใดหรือเพราะอะไรจึงโต้แย้ง กรณีแถลงมาลอยๆ มิใช่ใช้สิทธิโต้แย้ง" นั้น ก็เป็นเพียงความเห็นของศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้วตามคำแถลงฉบับดังกล่าว ชอบที่จำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ก่อนจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไป โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาในปัญหานี้..."
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์