โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าไม่ได้ทำละเมิดโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในโฉนดที่ดินเลขที่ 3828 แขวงมหานาค เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2526 เสีย โดยให้กลับคืนมาเป็นของโจทก์ ให้แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครทราบ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่าสมควรให้จำเลยที่ 2 เลื่อนคดีหรือไม่ ปรากฏตามสำนวนว่าทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2โดยอ้างเหตุว่า ทนายจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากทางสำนักงานว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งจะต้องมาเบิกความในวันนั้นติดธุระจำเป็นอย่างรีบด่วนไม่สามารถเดินทางจากจังหวัดระยองเพื่อเบิกความในวันนั้นได้และแถลงตามที่ศาลสอบถามว่าธุระจำเป็นอย่างรีบด่วนของจำเลยที่ 2จะเป็นเรื่องอะไร ทนายจำเลยที่ 2 ไม่สามารถทราบได้ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วางหลักเรื่องการขอเลื่อนการนั่งพิจารณาหรือเลื่อนคดีไว้ว่าคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อนต้องมีเหตุจำเป็น สำหรับกรณีของจำเลยที่ 2 นี้ทนายจำเลยที่ 2 เพียงแต่ได้รับแจ้งจากทางสำนักงานว่าจำเลยที่ 2 ติดธุระจำเป็นอย่างรีบด่วนเท่านั้น ซึ่งทนายจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้พบหรือพูดคุยกับจำเลยที่ 2เอง เป็นแต่เพียงได้รับแจ้งจากทางสำนักงานเท่านั้นและธุระจำเป็นอย่างรีบด่วนตามที่อ้างก็ไม่ปรากฏว่าเป็นอะไรหรืออย่างไร กับปรากฏด้วยว่าศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ไว้ล่วงหน้าราวเดือนครึ่งนับว่าเป็นเวลานานพอสมควร ประกอบกับในวันนัดนั้นจำเลยที่ 2 ก็มิได้เตรียมพยานอื่นมาเลยพฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนคดี..."
พิพากษายืน.