โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับมรดกนายฟุกซึ่งมีสัญชาติเป็นจีนฮกเกี้ยน นายฟุกได้ส่งอาหารให้กองทัพยี่ปุ่นในประเทศไทย วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๘ กองทัพยี่ปุ่นหน่วยงิดได้ทำหนังสือมอบเรือลำเลียงชายฝั่ง ๔ ลำให้แก่นายฟุกเป็นการชำระหนี้ เรือนี้ไม่มีทะเบียน นายฟุกได้นำไปขอจดทะเบียนต่อกรมเจ้าท่าแต่ยังไม่ทันสำเร็จ เจ้าหน้าที่ ส.ร.ส.ซึ่งต่อมาเรียกว่า ก.ท.ส.ได้ยึดเรือ ๔ ลำนี้ไป เรือ ๔ ลำนี้อยู่ในความควบคุมของ ก.ท.ส.จำเลย นายฟุกและโจทก์เรียกเรือคืน จำเลยไม่คืนให้ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งเรือ ๔ ลำตามสภาพเดิม ถ้าไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคา ๔,๒๔๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การต่อสู้ว่า
๑. โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้กองทัพยี่ปุ่นหากจะมีการซื้อขายกัน ก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือหากมีหนังสือก็ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นโมฆะ ฟ้องไม่แสดงรายละเอียดเรื่องการส่งอาหารเป็นฟ้องเคลือบคลุม
๒. ที่ว่ากองทัพยี่ปุ่นทำหนังสือส่งมอบเรือให้ไม่เป็นความจริง แม้จะจริงหลักฐานการโอนเป็นโมฆะ หากหลักฐานการโอนใช้ได้ การโอนก็ไม่สมบูรณ์ตามป.พ.พ.ม. ๕๒๕ ทั้งการโอนก็ไม่สุจริต โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย
๓. นายฟุกไม่ได้ครอบครองเรือ ๔ ลำนี้แม้จะครอบครอง การครอบครองทรัพย์สินของทหารหรือพลเรือนยี่ปุ่นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศกรมตำรวจและพ.ร.บ.กักคุมตัวและจัดกิจการ ฯลฯ ๒๔๘๘ ม.๑๓
๔. จำเลยไม่เคยควบคุมเรือ เพราะ ส.พ.ได้เข้ายึดครองโดยอำนาจของผู้ชนะสงครามจำเลยเป็นแต่เพียงพิจารณากรรมสิทธิ์ตามเรื่องที่ อ.ส.ขอให้พิจารณาเท่านั้น
๕. หนังสือตามฟ้องข้อ ๑๐ ไม่แสดงว่าจำเลยยึดเรือไว้
๖. อ.ส.ไม่ได้อายัติเรือนี้ต่อ ส.พ.
๗. ตามหนังสือตอบว่าจำเลยกำลังพิจารณากรรมสิทธิ์นั้น จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
๘. ที่จำเลยมีหนังสือตอบโจทก์ว่าไม่มีทางคืนเรือนั้นเป็นการพิจารณาแง่กฎหมายจำเลยไม่ได้ยึดครองเรือนั้น
๙. จำเลยไม่มีหน้าที่คืนหรือใช้ราคาเรือ เพราะตามพ.ร.บ.กักคุมตัว ฯลฯ จำเลยมีอำนาจและหน้าที่แต่เฉพาะกิจการของพลเรือนอันไม่เกี่ยวกับสงคราม เรือ ๔ ลำนี้ใช้ในการสงคราม ซึ่ง ส.พ.ได้ยึดคร่าห์เอาไป จึงตกเป็นของ ส.พ.ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
๑๐. นายฟุกเป็นชาตไต้หวัน สัตรูต่อสหประชาชาติในขณะนั้น ส.พ.มีอำนาจยึดครองทรัพย์ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฟ้องไม่เคลือบคลุม และฟังว่า
ก. กองทัพยี่ปุ่นโอนเรือตีใช้หนี้ค่าอาหารโดยสุจริต เรือนี้กองทัพยี่ปุ่นใช้โดยไม่มีทะเบียน จึงโอนทางทะเบียนไม่ได้ ทางปฏิบัติเมื่อ ก.ท.ส.เป็นผู้ขาย กรมเจ้าท่าได้ทำทะเบียนใหม่ให้ผู้ซื้อได้ บิดาโจทก์ครอบครองเรือนี้อยู่อันเป็นทรัพย์สิทธิ์
ข. ก.ท.ส.ได้ยึดเรือรายนี้ร่วมกับนายทหาร ส.พ.
ค. นายฟุก เป็นสัญชาติจีนฮกเกี้ยน
พิพากษาให้จำเลยใช้ราคาเรือนรวม ๔,๒๔๐,๐๐๐ บาท จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่ากองทัพยี่ปุ่นได้มอบเรือ ๔ ลำนี้ชำระหนี้ค่าซื้อปลาโดยสุจริตฟ้องโจทก์ที่ไม่แสดงรายละเอียดเรื่องส่งอาหาร ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะเป็นเพียงข้ออ้างถึงมูลเหตุ ที่ได้เรือมาอันเกี่ยวกับประเด็น แต่มิใช่ประเด็นโดยตรง
การมอบเรือให้โดยไม่จดทะเบียนนั้นไม่สำคัญ เพราะเมื่อกองทัพยี่ปุ่นตีใช้หนี้ (เจตนาโอนกรรมสิทธิ์ให้) อย่างน้อยโจทก์ก็มีสิทธิ์ครอบครองซึ่งดีกว่าคนอื่น ๆ รวมทั้งจำเลย แม้จำเลยจะใช้สิทธิ์ของกองทัพยี่ปุ่น กองทัพยี่ปุ่นเองก็เอาเรือนกลับคืนไม่ได้
ก.ท.ส.มีอำนาจและหน้าที่จัดการแก่ทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นสัตรูต่อสหประชาชาติเจ้าหน้าที่ ก.ท.ส.ได้ไปยึดเรือ ๔ ลำนี้กับทหารสหประชาชาติแล้วเรือได้ตกอยู่ในครอบครองของก.ท.ส. แล้วสหประชาชาติยืมเรือไปใช้บิดาโจทก์ขอเรือคืน จำเลยได้แจ้งให้ อ.ส.บอก ส.พ.ว่าให้ยึดเรือไว้ก่อนจนกว่าจะพิจารณากรรมสิทธิ์เสร็จ ในที่สุด ก.ท.ส.แจ้งต่อโจทก์ว่าไม่มีทางจะคืนเรือให้โจทก์ ฟังได้ว่า ก.ท.ส.ได้ยึดเรือรายพิพาท ปรากฎว่านายฟุกบิดาโจทก์เป็นจีนฮกเกี้ยน ไม่ใช่ไต้หวัน ได้รับมอบเรือมาก่อน ๘ ธันวาคม ๒๔๘๘ ก่อนกองทัพยี่ปุ่นแพ้สงคราม เรือนี้พ้นสภาพจากเรือที่ใช้ในการสงคราม ก.ท.ส.มีอำนาจเฉพาะในทรัพย์สินของสัตรูต่อสหประชาชาติ เมื่อจำเลยทำตามอำนาจและหน้าที่ แต่ทำผิดไป ไปยึดเรือของโจทก์โดยไม่มีอำนาจ ซึ่งศาลล่างได้ชี้ขาดมาว่าจำเลยต้องรับผิด จำเลยฎีกาว่าเป็นทรัพย์ของสัตรูสหประชาชาติ ซึ่งฟังไม่ขึ้น เมื่อเรือนั้นสูญหายไป และจำเลยไม่มีข้อแก้ตัวประการใด จำเลยก็ต้องใช้ราคา ข้อที่จำเลยจะมีสินทรัพย์ใช้ให้ได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย