โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างเจาะน้ำบาดาลให้โจทก์ 1 บ่อ ราคา 12,500 บาท ตกลงจะเจาะให้ได้น้ำไม่น้อยกว่าชั่วโมงละ 8,000 ลิตร จ่ายค่าจ้างไปแล้ว 8,000 บาท จำเลยเจาะบ่อน้ำและสูบมาได้เพียงชั่วโมงละ 4,000 ลิตร โจทก์บอกให้แก้ไข จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยแก้ไขบ่อให้ได้น้ำตามสัญญาภายใน 30 วัน ถ้าไม่สามารถแก้ไข ให้ร่วมกันรับผิดคืนเงิน 8,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเจาะบ่อน้ำตามที่กำหนดในสัญญา แต่โจทก์ซื้อเครื่องสูบน้ำซึ่งมีกำลังน้อยมาใช้ ฯลฯ จึงมิใช่ความผิดของจำเลยคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ แต่ที่สูบน้ำไม่ได้ปริมาณตามสัญญาไม่ใช่เพราะความบกพร่องของจำเลย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
คดีนี้ ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่สูบน้ำไม่ได้ชั่วโมงละ 8,000 ลิตร ตามสัญญา เป็นเพราะความไม่มีหรือความบกพร่องของปั๊มน้ำที่โจทก์จัดหาซื้อมาให้จำเลยติดตั้ง โจทก์ฎีกาว่าเครื่องปั๊มน้ำไม่ใช่สัมภาระในการเจาะน้ำบาดาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 591 ศาลจะนำมาปรับยกเว้นความผิดแก่จำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาได้ตรวจสัญญาจ้างรายนี้แล้วปรากฏว่าสัมภาระที่ต้องใช้เท่าที่ปรากฏในสัญญาก็คือ ในข้อ 3 มีท่อกรองน้ำท่อน้ำ อันประกอบด้วยแป๊บ ลวดตะแกรงทองเหลือง และจั๊งใต้หวันกับตามสัญญาข้อ 7 อันมีเครื่องปั๊มน้ำและท่อขึ้นลงถังพักน้ำ จึงถือได้ว่า การติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำเป็นส่วนหนึ่งของการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพราะถ้าไม่มีปั๊มน้ำแล้วจะเอาน้ำขึ้นมาได้อย่างไรหากแต่ในสัญญารายนี้สัมภาระในข้อ 3 กำหนดให้ผู้รับจ้างจัดหามา โดยไม่ต้องใช้ของใหม่ 100% ส่วนปั๊มน้ำตามสัญญาข้อ 7 ฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาโดยไม่ได้ระบุว่าจะเป็นปั๊มชนิดใด ขนาดไหน สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้ฝ่ายใดจะเป็นผู้จัดหามาก็ตาม ต้องถือว่าเป็นสัมภาระใช้ในการเจาะบ่อน้ำบาดาลอยู่นั่นเอง หากการงานที่ทำเกิดการบกพร่อง สูบน้ำไม่ได้ปริมาณตามสัญญา เป็นเพราะความบกพร่องของปั๊มน้ำที่โจทก์จัดหามาจะให้จำเลยรับผิดได้อย่างไร ฎีกาของโจทก์อ้างว่าศาลจะนำเอาเรื่องเครื่องปั๊มน้ำซึ่งไม่ใช่สัมภาระเจาะบ่อมาปรับยกเว้นความรับผิดของจำเลยไม่ได้นั้น ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน