โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 409,216 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.0562 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าวแทน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มีนาคม 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์แทน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์ในราคา 1,598,688 บาท ผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 22,204 บาท รวม 72 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 3 มกราคม 2562 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 3 ของทุกเดือน โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 18 งวด เป็นเงิน 399,672 บาท โดยผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 19 ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา โจทก์บอกกล่าวการผิดนัดไปยังจำเลยที่ 2 ล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์กลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 และนำออกประมูลขายได้ในราคา 830,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในค่าขาดราคาหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14 จะระบุว่า "...หรือสัญญาสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยกรณีอื่นใดก็ตาม และเจ้าของได้กลับเข้าครอบครองรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว..." แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันโดยปริยาย อันเป็นผลให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกันอีก โจทก์จึงไม่อาจอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อเรียกร้องค่าขาดราคาจากจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันโดยปริยาย แต่กรณีเช่นว่านี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงผลของการเลิกสัญญาที่จะยกมาปรับคดีได้ จึงต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเทียบเคียงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติถึงการเลิกสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญา อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ดังนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งเฉพาะการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์นั้น เนื่องจากรถยนต์เป็นทรัพย์ที่เสื่อมสภาพและเสื่อมราคาไปตามกาลเวลาและการใช้งาน การกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ในกรณีเช่นนี้เห็นได้อยู่ในตัวว่าไม่อาจทำให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้เหมือนดังเช่นขณะทำสัญญา ดังนั้น เพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ใกล้เคียงกับขณะทำสัญญาเท่าที่พอจะเป็นไปได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ ในข้อนี้ แม้พยานหลักฐานของโจทก์จะไม่ได้ความชัดเจนว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเสื่อมราคาไปเพียงใด แต่ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถใหม่ มีราคาเงินสดไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,299,532.71 บาท หักเงินดาวน์ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 13,103.74 บาท คงเหลือราคาเงินสดเป็นเงิน 1,286,428.97 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว 373,525.20 บาท โดยครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อรวมแล้วประมาณ 1 ปี 10 เดือน และปรากฏตามใบตรวจเช็คสภาพรถยนต์ว่ามีการใช้งานเป็นระยะทาง 32,299 กิโลเมตร จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท และเมื่อค่าเสื่อมราคาที่กำหนดให้นี้เป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้องและที่แก้ไขใหม่ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เนื่องจากโจทก์ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 จึงกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามที่ขอ เมื่อรวมกับค่าขาดประโยชน์ 15,000 บาท ซึ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสิ้น 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เนื่องจากค่าเสื่อมราคาที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมภายหลังจากการที่สัญญาเลิกกันแล้ว เมื่อโจทก์บอกกล่าวการผิดนัดไปยังจำเลยที่ 2 ล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง คงต้องรับผิดเฉพาะแต่ค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 10,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มีนาคม 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ