คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยว่าเข้ามาปลูกผักในที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยย้ายทรัพย์สินและบริการออกจากที่ดินของโจทก์จำเลยให้การว่าที่ดินเป็นของกรมชลประทานไม่ใช่ของโจทก์ ในที่สุดโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลพิพากษาตามสัญญาดังกล่าวแล้ว
ต่อมาจำเลยตาม ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรจำเลยร้องขอรับมรดกความอ้างว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 โจทก์ยินยอมให้จำเลยปลูกผักบุ้งชายคลองหน้าคันดินพิพาท บัดนี้โจทก์ไม่ยอมให้ผู้ร้องปลูกผักบุ้งชายคลองหน้าคันดินพิพาท เป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอม ขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเป็นผู้รับมรดกความของจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ยินยอมให้จำเลยปลูกผักบุ้งชายคลองหน้าคันดินพิพาทนั้น เป็นเรื่องผูกมัดให้โจทก์ต้องปฏิบัติต่อจำเลยเป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น สิทธิของจำเลยในการปลูกผักบุ้งที่ชายคลองหน้าคันดินไม่ใช่สิทธิที่จะตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเพื่อขอดำเนินการบังคับคดีกับโจทก์ต่อไป ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ผู้ร้องอ้างถึงสิทธิของผู้ร้องเกิดจากการที่จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยยินยอมให้ที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ โจทก์ตกลงชำระเงินแก่จำเลย 2,500 บาท และยินยอมให้จำเลยปลูกผักบุ้งชายคลองหน้าคันดินพิพาทด้วย เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เจ้าของที่ดินมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของตน การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยสอดเข้ามาเกี่ยวข้องปกติย่อมหมายความว่า ยินยอมให้เฉพาะตัวจำเลยเท่านั้น นอกจากนั้น ที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ โจทก์ได้ชำระเงิน 2,500 บาท ตอบแทนความยินยอมของจำเลยไปแล้ว การที่โจทก์ยังยินยอมให้จำเลยปลูกผักบุ้งที่ชายคลองหน้าคันดินพิพาทอีก เห็นได้ว่าหาใช่เป็นการยินยอมที่ให้ผูกพันตลอดไปไม่ ดังนั้นเมื่อจำเลยตาย สิทธิของจำเลยที่โจทก์ให้เป็นการเฉพาะตัวจึงระงับไปไม่ตกทอดแก่ทายาท ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาและให้ยกคำร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.