ได้ความว่าที่ดินที่มีแต่ใบไต่สวนของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกัน ราวกลางปี พ.ศ. 2495 โจทก์หาว่าจำเลยบุกรุกเข้าทำนา อำเภอเปรียบเทียบแล้วตกลงกันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างชี้เขตรุกล้ำที่ของกันและกัน อำเภอสั่งให้ทั้งสองฝ่ายไปขอสอบเขต ให้รู้เขตแน่ว่าใครรุกใครเมื่อปรากฏแน่แล้วว่าที่พิพาทเป็นของใครก็จะคืนให้และให้ฝ่ายรุกล้ำเสียค่าเสียหายเป็นข้าวไร่ละ 5 ถังต่อปี ได้ทำบันทึกจดไว้โดยทั้งสองฝ่ายยินยอมตามที่ไกล่เกลี่ย นับแต่นั้นตลอดมาจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทเมื่อ พ.ศ. 2496 โจทก์นำช่างแผนที่รังวัดที่ของโจทก์ จำเลยคัดค้านว่ารังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่พิพาทที่จำเลยครอบครองขอให้รังวัดที่ดินของจำเลยด้วย เพื่อรู้เขตแน่นอนว่าของใครแค่ไหน และขอให้เจ้าพนักงานช่วยระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยพ.ศ. 2499 พนักงานรังวัดไปรังวัดอีกครั้ง ครั้งนี้ทำแผนที่พิพาทไว้ด้วยว่าจำเลยคัดค้านตรงไหน แต่เรื่องก็เงียบกันมา จนปี พ.ศ. 2501 โจทก์ยอมปักหลักเขตใหม่ตามรูปใบไต่สวนเดิมและรังวัดใหม่ จำเลยก็คงยอมให้รังวัดโดยจำเลยจะไปดูเขตของจำเลยด้วย จนถึง พ.ศ. 2502 ช่างแผนที่ออกไปรังวัด จำเลยไม่ยอมให้รังวัดโจทก์จึงฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยไม่ยอมให้รังวัด ขอให้พิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทมาแต่ปี พ.ศ. 2495 โจทก์ขาดอำนาจการครอบครองไปแล้วโดยมิได้ฟ้องร้องเรียกคืนภายใน 1 ปีนับแต่ถูกแย่งครอบครอง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและจำเลยได้สิทธิครอบครองพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาเห็นว่า การยึดถือที่พิพาทของจำเลยตั้งแต่วันทำบันทึกตกลงกันชั้นอำเภอเป็นต้นไปนั้นมิใช่เป็นการยึดถือเพื่อแย่งการครอบครอง เพราะการพิพาทเรื่องเขตนั้นก็คงพิพาทกันไป ส่วนการทำนาคงทำไปพลางก่อนเท่าที่เคยทำมา ยังไม่ถือเป็นแน่นอนว่าตรงนั้นเป็นของตน โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องภายใน 1 ปี เพราะไม่มีการแย่งการครอบครองต่อไปแล้ว และการที่ต่อมาจำเลยได้คัดค้านการรังวัดของโจทก์ แม้จะเป็นการไม่ยอมรับนับถือสิทธิของโจทก์ในที่พิพาท แต่ก็มิใช่ถือเอาเป็นแน่ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทีเดียว ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แม้จะล่วงเลยมาหลายปี แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายยินยอมให้สอบเขตตามข้อตกลงที่อำเภอนั้น จำเลยจึงยกเอาเวลาที่ล่วงเลยมานั้นมาตัดฟ้องว่าขาดอายุความไม่ได้