โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5361 ตำบลทุ่งน้อย อำเภอดเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9044 ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐมจังหวัดนครปฐม และเป็นเจ้าของที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 3/2498 ตำบลทุงน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ร่วมกับจำเลยที่ 2ระหว่างที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยทั้งสองทางทิศตะวันออกและทางทิศใต้มีทางสาธารณประโยชน์กว้าง 5 วา ยาวประมาณ 120 วาเป็นแนวผ่านตลอดออกสู่ถนนใหญ่ได้ทั้งสองด้าน เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2515 ถึงปลายเดือน ธันวาคม 2517 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเข้าไถทำลายบุกรุกและเข้าครอบครองทางสาธารณประโยชน์ ด้านที่ดินกับที่ดินมีโฉนดของจำเลยที่ 1 และระหว่างต้นเดือนมกราคม 2519 ถึงปลายเดือน ธันวาคม 2527 จำเลยทั้งสองได้ไถทำลายทางสาธารณประโยชน์ทางด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์ ทำรั้วปิดกั้นไม่ให้โจทก์ผ่านเข้าที่ดินของโจทก์ ต้นเดือนธันวาคม 2528 ถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2531จำเลยทั้งสองร่วมกันขุดบ่อน้ำขนาดกว้าง 3 วา ยาว 4 วาและลึก 2 วา เพื่อนำดินจากการขุดบ่อไปขาย และนำเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษของจำเลยทั้งสองมาตั้งไว้กลางทางสาธารณประโยชน์ด้านติดกับที่ดินโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางสาธารณประโยชน์ให้มีขนาดกว้าง 5 วายาว 120 วา รื้อรั้ว กลบบ่อน้ำ และนำเจดีย์ออกจากทางสาธารณประโยชน์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ระหว่างที่ดินของโจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่มีทางสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองไม่เคยไถทำลายบุกรุกเข้าครอบครองทางสาธารณประโยชน์ บ่อน้ำและเจดีย์อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ดินของโจทก์ไม่ได้ถูกปิดล้อมมีทางเข้าออกทางอื่น โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆอันเป็นการปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์พิพาท ตามเส้นประสีดำในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีความกว้าง 1 วา จากแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 5361 และ 9044 ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ยาวตลอดแนวเขตที่ดินตามแนวเส้นประสีดำ นอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีทางพิพาทอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทกว้างเท่าใดการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทางพิพาทกว้าง 1 วา เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเพราะจำเลยทั้งสองให้การว่าไม่มีทางพิพาทเท่านั้น ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ทางพิพาทกว้างเท่าใด เมื่อโจทก์พิสูจน์ได้ว่ามีทางพิพาทแล้วทางพิพาทย่อมต้องมีความกว้างตามที่ฟ้องเห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าไม่มีทางพิพาทซึ่งเท่ากับต่อสู้ถึงความกว้างของทางพิพาทด้วย ศาลจึงต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า มีทางพิพาทหรือไม่ ถ้ามีกว้างเท่าใด ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงความกว้างของทางพิพาทจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทกว้าง 5 วาและเห็นว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์จึงเป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ โดยโจทก์ไม่ต้องใช้แทนจำเลยทั้งสองนั้นเป็นคุณแก่โจทก์มากอยู่แล้ว
พิพากษายืน