โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจสำรวจขุดเจาะ ผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียม ในปี 2522 บริษัทโจทก์ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเงินกู้มาใช้เป็นเงินลงทุนในประเทศไทย โดยทำสัญญากันในประเทศญี่ปุ่นและบริษัทโจทก์จะต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ ณ ประเทศญี่ปุ่นต่อมาในปี 2524 บริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนจัดตั้งสาขาขึ้นในประเทศไทย เงินที่ใช้ในการดำเนินงานของสาขาทั้งหมด บริษัทโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ส่งมาเป็นระยะ ๆ เมื่อบริษัทโจทก์สาขาประเทศไทยดำเนินการจำหน่ายปิโตรเลียมได้ หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงินเท่าใดก็จะส่งกลับคืนไปให้บริษัทโจทก์ประเทศญี่ปุ่นในการดำเนินการนี้เนื่องจากต้องลงทุนมาก บริษัทโจทก์ต้องจัดวางระบบบัญชีให้ได้มาตราฐาน และต้องการที่จะทราบว่าต้นทุนเป็นเท่าใดดังนั้น ในรอบปีบัญชีแรกของบริษัทโจทก์สาขาประเทศไทยจึงได้นำเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่บริษัทโจทก์ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้จ่ายไปตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินการมาลงบัญชีของสาขาประเทศไทยเป็นต้นทุนของบริษัทโจทก์ด้วย รวมทั้งค่าดอกเบี้ยที่บริษัทโจทก์ประเทศญี่ปุ่นจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้สำหรับในรอบปีบัญชีถัดไปก็ทำเช่นเดียวกัน โดยดอกเบี้ยที่บริษัทโจทก์ประเทศญี่ปุ่นได้จ่ายไปนั้น สาขาประเทศไทยมิได้ถือเอาเป็นค่าใช้จ่ายของสาขาประเทศไทยในการคิดคำนวณกำไรสุทธิแต่อย่างใดต่อมาเจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้บริษัทโจทก์สาขาประเทศไทยนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลอ้างว่าโจทก์ได้ส่งเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(4)(ก) ออกไปให้สถาบันการเงินต่างประเทศ โดยมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งตามมาตรา 70 จึงให้ชำระภาษีและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะเงินค่าดอกเบี้ยนี้บริษัทโจทก์ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ชำระโดยตรง บริษัทโจทก์สาขาประเทศไทยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งเงินออกไปจากประเทศไทยเพื่อชำระหนี้ค่าดอกเบี้ย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การกู้ยืมเงินนี้ บริษัทโจทก์ประเทศญี่ปุ่นกู้ยืมมาเพื่อใช้ในกิจการสาขาประเทศไทยโดยตรง ดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว บริษัทโจทก์ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้จ่ายแทนให้แก่สาขาประเทศไทย เมื่อบริษัทโจทก์ส่งดอกเบี้ยเงินกู้อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70(2) แต่บริษัทโจทก์มิได้หัก บริษัทโจทก์จึงต้องรับผิดชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าสถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นผู้ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้จากโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นต้องเสียภาษีเงินได้ในเงินดอกเบี้ยดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมาตรา 70(2) มีเจตนารมณ์มุ่งให้เก็บภาษีเงินได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะเป็นเงินที่ได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทย ในกรณีของโจทก์คดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นได้กู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นเพื่อส่งมาใช้จ่ายในกิจการของบริษัทโจทก์สาขาในประเทศไทยโดยเฉพาะ และเมื่อโจทก์สาขาในประเทศไทยประกอบกิจการมีรายได้แล้วก็จัดส่งไปให้บริษัทโจทก์ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่สถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมนั้น จึงเห็นได้ว่าเงินที่สถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นให้กู้ยืมมานั้นก็เพื่อนำมาใช้จ่ายในการประกอบกิจการเพื่อหารายได้ในประเทศไทยเมื่อได้รับดอกเบี้ยจากเงินที่ได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยจึงต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินดอกเบี้ยดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากร มาตรา 70(2) โดยไม่ต้องคำนึงว่าเงินดอกเบี้ยนี้บริษัทโจทก์สาขาในประเทศไทยเป็นผู้ส่งไปชำระให้แก่สถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมนั้นโดยตรง หรือบริษัทโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นชำระไปก่อน แล้วบริษัทโจทก์สาขาในประเทศไทยจึงส่งคืนไปให้บริษัทโจทก์ในประเทศญี่ปุ่น เพราะไม่ว่าจะชำระโดยวิธีใดก็เป็นการเอาเงินที่ได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) ไปชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ยืมนั่นเอง ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าสถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นผู้ให้กู้ยืมมิได้รับชำระดอกเบี้ยโดยตรงจากบริษัทโจทก์สาขาในประเทศไทย สถาบันการเงินดังกล่าวจึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในเงินดอกเบี้ยที่ได้รับชำระ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกข้อหนึ่งมีว่าสถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นที่ให้โจทก์กู้ยืมเงินนั้นได้รับยกเว้นภาษีอากรตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514มาตรา 13 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีตาม มาตรา 13 ไม่จำต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายปิโตรเลียมตามคำนิยามของคำว่า "บริษัท" ในมาตรา 4 สถาบันการเงินที่ให้โจทก์กู้ยืมเงินแม้เป็นบริษัทธรรมดาที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับการยกเว้นภาษี ตามมาตรา 13ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มีว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะเก็บภาษีเงินได้จากผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมตามอัตราและวิธีการพิเศษต่างหากจากภาษีเงินได้ที่เก็บตามประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตรา 13 ว่า เหตุที่มาตรา 13 บัญญัติให้บริษัทจำกัดหรือนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศได้รับยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรและภาษีอากรตามกฎหมายอื่นก็เพราะบริษัทหรือนิติบุคคลดังกล่าวต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514อยู่แล้ว และบริษัทหรือนิติบุคคลที่จะต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมดังที่ปรากฏในเหตุผลแห่งการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ ดังนี้บริษัทหรือนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือภาษีอากรตามกฎหมายอื่นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 จะต้องเป็น "บริษัท" ตามคำจำกัดความในมาตรา 4 คือ ต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่ง (1) ได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน หรือ (2) ซื้อน้ำมันดิบที่บริษัทตาม (1) เป็นผู้ผลิตเพื่อส่งน้ำมันดิบนั้นทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า สถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นที่ให้โจทก์กู้ยืมเงินนั้นมิใช่เป็น "บริษัท" ตามคำจำกัดความในมาตรา 4แต่อย่างใด สถาบันการเงินดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพราะมิฉะนั้นแล้วบริษัทหรือนิติบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เมื่อมีเงินได้จากบริษัทตามกฎหมายปิโตรเลียมแล้วก็จะไม่ต้องเสียภาษีอากรประมวลรัษฎากรหรือภาษีอากรตามกฎหมายอื่น เท่ากับไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ เลย ซึ่งกฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์เป็นเช่นนั้นที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าสถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นที่ให้บริษัทโจทก์กู้ยืมเงินไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70(2) จึงชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน"
พิพากษายืน