คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโจทก์ที่ ๒ ซึ่งมีอายุ ๑๗ ปี เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๐๗ จำเลยที่ ๑ ได้มาสู่ขอและทำการหมั้นโจทก์ที่ ๒ ให้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์ทั้งสองรับหมั้น เรียกค่าสินสอด ๒,๐๐๐ บาท จำเลยตกลงและกำหนดทำการสมรสในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๗ ที่บ้านของโจทก์ที่ ๑ แต่จำเลยไม่ปรากฏตัวเลย จึงไม่มีการรสมรส โจทก์ได้เตรียมสิ่งของ อาหาร เครื่องดื่มเพื่อใช้ในการสมรสรวม ๗,๑๗๘ บาท ทำให้โจทก์ได้รับการเสียหายอับอายขายหน้า ขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ๗,๑๗๘ บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้หมั้นหรือไม่ได้นัดหมายว่าจะแต่งงาน จำเลยพูดจาสู่ขอโจทก์ที่ ๒ เป็นภริยาจำเลยที่ ๒ จริง แต่โจทก์เรียกค่าสินสอด ๒,๐๐๐ บาท จำเลยขอลดเพียง ๑,๖๐๐ บาท โจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยจึงไม่ได้นัดแต่งงานกับโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย เพราะไม่มีการนัดแต่งงาน ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดสัญญาจะแต่งงานตามฟ้อง ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวม ๔,๖๕๘ บาท
จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่มีการหมั้น และศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเกินความจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ไม่ได้ความว่าฝ่ายจำเลยให้ทรัพย์สินอะไรไว้แก่โจทก์ จึงไม่เป็นการหมั้นตามกฎหมาย เมื่อไม่มีการหมั้นก็เรียกค่าทดแทนไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่รับรองตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๖/๒๔๘๗ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาว่ากฎหมายไม่ได้บังคับว่าการหมั้นต้องมีของหมั้น ไม่มีประเพณีท้องถิ่นที่โจทก์จำเลยอยู่ว่าจะต้องมีของหมั้น จำเลยควรชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า หมั้น ตามที่เข้าใจกันตามธรรมดาและตามประเพณี จะเรียกว่าหมั้นก็ต่อเมื่อฝ่ายชายนำของหมั้นไปมอบให้ฝ่ายหญิงแล้ว เมื่อมีการหมั้นแล้วถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษเช่นนี้ การตกลงว่าจะสมรสโดยไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้ จึงเรียกค่าทดแทนไม่ได้ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ไม่มีประเพณีท้องถิ่นที่โจทก์จำเลยอยู่ว่าจะต้องมีของหมั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ไม่มีประเพณีท้องถิ่นที่โจทก์จำเลยอยู่ว่าจะต้องมีของหมั้น มิใช่เหตุอันจะพึงยกขึ้นลบล้างบทกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ พิพากษายืน.