โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า "ไลท์แมน"(LIGHT MAN) ได้จดทะเบียนต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าในจำนวน 38 (เครื่องนุ่งห่มและแต่งกาย) ต่อมาเมื่อวันที่5 มีนาคม 2525 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าในจำพวก 38เช่นเดียวกับของโจทก์ โดยใช้เครื่องหายการค้าว่า "ไลออน แมน"(LION MAN) ตามคำขอเลขที่ 122755 ซึ่งคำว่า ไลออน แมน กับไลท์ แมน มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ทั้งด้านตัวอักษรที่ขึ้นต้นด้วยตัวแอล และลงท้ายด้วยแมนเหมือนกัน การออกเสียงเรียกขานก็คล้ายกันมาก อาจทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่าเป็นชื่อเดียวกันโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2525 เพื่อให้สั่งระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์ทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2526 การกระทำของจำเลยนับว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนนับว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้เกิดความสับสนหลงผิด ขอให้ระงับการการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 122755 เสีย
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้คำว่า ไลออน แมน ก่อนโจทก์ใช้คำว่า ไลท์ แมน เครื่องหมายการค้า ไลออน แมน ของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ไลท์ แมน ของโจทก์เพราะมีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งคำ ตัวอักษร ลวดลายการเขียนทั้งคำเป็นสามัญที่ไม่ใช่คำเฉพาะเจาะจง ซึ่งบุคคลใด ๆ ก็มีสิทธิที่จะนำมาใช้ได้เสียงเรียกขานและสำเนียงการออกเสียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างกัน ไม่ทำให้สาธารณชนหลงผิดว่าเป็นชื่อเดียวกัน คำแปลอักษรโรมันแตกต่างกัน รูปภาพประกอบคำ ไลออน แมน และ ไลท์ แมน ก็แตกต่างกัน การวางรูปก็วางอยู่ในตำแหน่งต่างกัน จำเลยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดคอลบอย ได้ยินยอมให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดคอลบอยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับสินค้าเสื้อยืดและกางเกงใน ได้ทำการโฆษณาเครื่องหมายการค้าของจำเลยจนเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันทั่วไปสาธารณชนจึงไม่หลงผิดหรือเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นายทะเบียนกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีความเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้ใด แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านการจดทะเบียน นายทะเบียนก็ยกคำคัดค้านของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ปัญหามีว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนกล่าวได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดหรือไม่ ปรากฎว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LIGHT MAN (ไลท์ แมน)ของโจทก์ไว้ 4 แบบด้วยกัน ตามสำเนาหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนหมาย จ.2 ถึง จ.5 ทั้งสี่แบบนี้ ตัวอักษรขนาดต่างกันและลักษณะของตัวอักษรก็ต่างกันด้วย ตัวอักษรคำว่า LIGHT และ MAN นั้นแยกกัน เว้นแต่ตามเอกสารหมาย จ.4 เท่านั้นที่ตัวอักษรอยู่ติดกันและมีรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่างตามเอกสารหมาย จ.3 มีรูปศีรษะคนขนาดเล็กสวมหมวกอยู่ระหว่างตัวอักษร LIGHT และ MANส่วนตามเอกสารหมาย จ. 5 นั้นเป็นรูปสลากกระเป๋ากางเกง มีคำว่าLIGHT MAN อยู่ด้านบน คำว่า FOR WORK AND PLAY และมีรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่างใช้กับกางเกงยีน ส่วนเครื่องหมายการค้าLION MAN (ไลออน แมน) ที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนนั้น ตัวอักษรอยู่ใต้ภาพศีรษะคนและหัวสิงโตซึ่งอยู่ติดกันโดยศีรษะคนอยู่ด้านขวาส่วนหัวสิงโตอยู่ด้านซ้าย ภาพศีรษะคนและหัวสิงโตนั้นมีขนาดใหญ่กว่าตัวอักษร 5-6 เท่า ส่วนภาพศีรษะคนสวมหมวกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 นั้นมีขนาดเล็กเท่าตัวอักษร และตามเอกสารหมาย จ. 4 กับ จ. 5 มีขนาดเล็กกว่าตัวอักษรมาก เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายแบบดังกล่าวเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เน้นที่ตัวอักษรคำว่า ไลท์ แมนส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นให้ความสำคัญที่ตัวอักษรไลออน แมน เท่าเทียมกับภาพประกอบรูปศีรษะคนที่ติดกับหัวสิงโตโดยมีเจตนาให้ภาพดังกล่าวเป็นคำอธิบายความหมายของตัวอักษรคือหมายความว่ามนุษย์สิงโต ส่วนภาพในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งมีภาพศีรษะคนขนาดเล็กสวมหมวกนั้น มิได้อธิบายความหมายของคำว่าไลท์ แมน แต่ประการใด สำหรับตัวอักษรคำว่า ไลท์ แมน กับคำว่าไลออน แมน ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีคำว่า แมน เหมือนกันนั้น ก็เห็นได้ว่าคำว่า แมน นั้นเป็นคำสามัญ ไม่ใช่คำเฉพาะ และมีผู้นำไปใช้กับสินค้าหลายประเภทรวมทั้งนิตยสารฉบับหนึ่งด้วย ส่วนคำว่าไลท์ กับคำว่า ไลออนนั้นมีความหมายแตกต่างกันมาก ทั้งคำว่า ไลท์ก็อ่านออกเสียงพยางค์เดียว ส่วนคำว่า ไลออน อ่านออกเสียงสองพยางค์ เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าที่ปรากฎที่เสื้อหมาย จ.27 และ ล.1 อันเป็นสินค้าของโจทก์ กับที่เสื้อหมายจ.28 และ ล.20 ถึง ล.23 อันเป็นค้าของจำเลยแล้ว เห็นได้ชัดว่าลักษณะของตัวอักษร สี แบบ และขนาดแตกต่างกันมาก เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนกล่าวได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน