โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๑๐ ว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์ ๒ ครั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๙ กำหนดชำระคืนภายใน ๑๒ เดือน ครั้งที่ ๒เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๙ กำหนดชำระคืนภายใน ๒๙ มิถุนายน ๒๕๑๐สัญญาจะให้ดอกเบี้ยอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนให้โจทก์ทุกเดือน จำเลยที่ ๒เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตามสัญญาและไม่คืนเงินต้นเมื่อครบกำหนด ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระ ถ้าไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าจะได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ทั้ง ๒ จำนวนไว้จริงหรือเปล่าจำไม่ได้ สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยที่ ๒ไม่รับรองและไม่ยืนยัน สัญญากู้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ หากจำเลยที่ ๒ ได้ค้ำประกันจริง ก็ไม่ต้องชำระหนี้ให้ก่อนถึงกำหนดชำระ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้กู้ จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ทั้ง ๒ จำนวนให้โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ลายมือจำเลยนั้น เห็นว่าจำเลยที่ ๒ มิได้ให้การรับหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์ในข้อนี้ เพราะจำเลยที่ ๒ ให้การว่าจะได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันหรือเปล่าจำไม่ได้สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยที่ ๒ ไม่รับรองและไม่ยืนยันจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีข้อต่อสู้และไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ ที่จำเลยที่ ๒ นำสืบว่าไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกัน และไม่รับรองลายเซ็นในช่องผู้ค้ำประกัน เป็นการสืบนอกประเด็นรับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าเงินกู้รายที่ ๒ ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์จะฟ้องให้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญาโจทก์ทวงถามก็ไม่ชำระ จำเลยที่ ๑ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด และสัญญากู้ระบุว่าถ้าจำเลยที่ ๑ ประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ก็ยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องได้ แม้หนี้เงินต้นยังไม่ถึงกำหนดชำระและโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๖
พิพากษายืน