ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเรียกร้องหลังล้มละลาย: การรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้เดิม และข้อจำกัดในการยื่นคำขอรับชำระหนี้
จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจาก บ. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาไว้แก่โจทก์อีกว่า หากโจทก์ต้องชำระหนี้แก่ บ. แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏว่าในวันที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาไว้แก่โจทก์นั้น มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อาจถูก บ. เรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ บ. ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงเป็นผู้ที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามสัญญารับจะชำระหนี้ในเวลาภายหน้าได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาด โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่โจทก์อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 และ 101 แต่ บ. ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้าย แต่การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่ บ. ภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมีผลให้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ไปใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 โจทก์จะนำหนี้ที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดมาฟ้องให้จำเลยดังกล่าวล้มละลายซ้ำอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่