โจทก์เป็นผู้รับจ้างขนส่ง ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยผู้ว่าจ้าง ขอให้ชำระค่าเสียหายจากการที่สินค้าของจำเลยเกิดลุกไหม้ทำให้ตู้ขนส่งและเรือของโจทก์เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลและเป็นเจ้าของเรือยูนิ-เมอร์ซี่ ลำที่เกิดเหตุ จำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบกิจการผลิตถ่านไม้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งถ่านไม้ ไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยขนส่งแบบแอลซีแอล (LCL) ซึ่งจำเลยจะนำสินค้า มาส่งแก่โจทก์ที่ท่าเรือให้โจทก์บรรจุเข้าตู้สินค้าของโจทก์เอง แต่จำเลยผู้ส่งของมิได้ทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายแสดงว่าเป็นสินค้าอันตรายที่ข้างกล่องกระดาษดังกล่าวทั้งมิได้แจ้งให้โจทก์ผู้ขนส่งสินค้าได้ทราบถึงสภาพอันตรายของถ่านไม้นั้น อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 33 ที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ส่งสินค้าอันตรายจะต้องปฏิบัติเช่นนั้นอย่างไรก็ตาม มาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ส่งของที่ละเว้นไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 33 ไว้ว่า ถ้าผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 และผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้นสิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่นมีดังต่อไปนี้ (1).. (2) ผู้ส่งของยังคงต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายทั้งปวงอันเกิดขึ้นหรือเป็นผลเนื่องจากการขนส่งของนั้นซึ่งหมายความว่า ผู้ส่งของจะต้องรับผิดใน ความเสียหายต่อผู้ขนส่งตามมาตรา 34 (2) ประกอบด้วยมาตรา 33 ดังกล่าว ก็ต่อเมื่อผู้ขนส่งไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์ทราบว่าสินค้าที่โจทก์รับขนเป็นถ่านไม้ เป็นของแข็งลุกติดไฟได้ ตามข้อกำหนดของไอเอ็มดีจี โค้ด (IMDG CODE) และประกาศกรมเจ้าท่า เรื่อง การกำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ แต่โจทก์ไม่ทราบว่าถ่านไม้สามารถดูดซับความร้อนสะสมในตัวจนลุกติดไฟได้เอง จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้ทราบถึงสภาพอันตรายของสินค้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 นั้น เห็นว่า ตามใบเสนอราคาค่าขนส่งที่โจทก์เสนอต่อจำเลย โจทก์ระบุว่า สินค้าเป็นถ่านไม้ อิมโก 4.2 ยูเอ็น 1362 ซึ่งตามไอเอ็มดีจี โค้ด ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า สินค้าถ่านไม้ตามรหัสหมายเลขดังกล่าวมีคุณสมบัติสามารถร้อนตัวขึ้นช้า ๆ และติดไฟได้เองในอากาศ อันเป็นคุณสมบัติที่แสดงถึงอันตรายของสินค้านี้ และตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 8 (3) บัญญัติให้ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องจัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆ ที่ใช้บรรทุกของให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับขนส่ง การที่ พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 33 บัญญัติกำหนดหน้าที่ให้ผู้ส่งของต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตรายและต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้นก็เพื่อให้ผู้ขนส่งใช้ความระมัดระวังจัดระวางบรรทุกให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่ตนรับขน จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น ตามความหมายในมาตรา 34 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในความเสียหายตามมาตรา 34 (2) แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ดังกล่าวได้ ส่วนปัญหาว่าการที่จำเลยบรรจุสินค้าถ่านไม้ลงในถุงพลาสติกแล้วปิดปากถุงโดยใช้หนังยางรัดเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและเป็นสาเหตุให้โจทก์เสียหายหรือไม่นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า ผู้ส่งของไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายหรือการที่เรือเสียหาย เว้นแต่จะเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของ หรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าถ่านไม้เป็นสินค้าอันตราย ตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 353/2529 เรื่อง การกำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ และเป็นสินค้าอันตรายในไอเอ็มดีจี โค้ด ประเภท อิมโก 4.2 ยูเอ็น 1362 จำพวกของแข็งซึ่งจะดูดซับความร้อนและสามารถลุกไหม้ได้ในตัวเอง ซึ่งข้อกำหนด ไอเอ็มดีจี โค้ด ระบุถึงการบรรจุสินค้าประเภทนี้ว่าจะต้องไม่ให้อากาศเข้าไปในหีบห่อได้ หากเป็นการบรรจุในถุงพลาสติกต้องมีการหลอมละลายปากถุงให้สนิท จะใช้หนังยางรัด ไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ แม้สาเหตุของการเกิดไฟไหม้ในทุกกรณีจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัตถุเชื้อเพลิง อุณหภูมิหรือความร้อน และก๊าซออกซิเจน หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งจะไม่มีการติดไฟขึ้นก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยก็ย่อมเป็นโอกาสให้มีก๊าซออกซิเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นปัจจัยในการก่อให้เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นได้ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเคยบรรจุถ่านไม้ในถุงพลาสติกรัดด้วยหนังยางในการขนส่งสินค้าดังกล่าวไปต่างประเทศมาแล้วประมาณ 10 ครั้ง ก็ไม่เคยเกิดปัญหาไฟลุกไหม้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่า ในการขนส่งสินค้าครั้งก่อน ๆ ดังกล่าว ผู้ขนส่งจัดวางสินค้าไว้ไม่เหมาะสมดังเช่นเหตุครั้งนี้ที่โจทก์จัดวางสินค้า ไม่ถูกต้องอันเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟไหม้ด้วย ดังนี้จึงเชื่อได้ว่าเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบรรจุถ่านไม้โดยไม่ใช้วิธีปิดผนึกจนอากาศเข้าไม่ได้อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย เป็นเหตุที่จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์
ส่วนข้อที่จำเลยให้การและนำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งไม่ส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งแก่จำเลยหรือตัวแทนว่าได้เกิดความเสียหายพร้อมแจ้งถึงสภาพโดยทั่วไปของความเสียหายดังกล่าวภายใน 90 วัน นับแต่วันที่เกิดความเสียหายนั้น เห็นว่า การที่ผู้ขนส่งไม่บอกกล่าวเป็นหนังสือดังกล่าวแก่ผู้ขนส่งเป็นเพียงเหตุให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งไม่ได้รับความเสียหายตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ดังนี้โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้ เมื่อโจทก์นำสืบพยานหลักฐานโดยมีรายงานสำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งภาพถ่ายประกอบรายงานดังกล่าวรวมถึงใบแจ้งหนี้ ค่าซ่อมแซมเรือและตู้สินค้า คิดเป็นเงินบาทรวมทั้งสิ้นจำนวน 765,123.75 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันที่สินค้าเสียหายถึงวันฟ้องได้เป็นเงินจำนวน 55,812.11 บาท และจำเลยไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 765,123.75 บาท จริง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ก็มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย กล่าวคือ โจทก์จัดระวางบรรทุกสินค้าอันตรายไม่เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งสินค้าอันตรายโดยจัดวางตู้สินค้าบรรจุถ่านไม้ไว้ในระวางเรือปะปนกับตู้สินค้าอื่นโดยมีตู้สินค้าอื่นวางทับซ้อนไว้ 2 ถึง 3 ชั้น เชื่อได้ว่าอากาศไม่สามารถไหลเวียนถ่ายเทได้โดยสะดวก ดังนั้น ย่อมเกิดความร้อนขึ้นมากกว่าปกติ ในระยะเวลาประมาณ 5 ถึง 6 วัน ที่เรือแล่นอยู่กลางทะเลย่อมสะสมความร้อนได้สูงเพียงพอที่จะลุกไหม้ขึ้นได้ จึงเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ถ่านไม้เกิดลุกไหม้จนเกิดความเสียหายขึ้นนั้น นอกจากจะเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยในการบรรจุสินค้าดังกล่าวแล้ว ยังมีสาเหตุที่สำคัญมาจากการจัดวางตู้สินค้าที่บรรจุถ่านไม้ที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและด้วยความประมาทเลินเล่อของโจทก์ผู้ขนส่งด้วย ดังนั้น ในการที่จะให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณโดยคำนึงถึงข้อสำคัญว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 และเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์กับความร้ายแรงแห่งการกระทำของโจทก์และจำเลยซึ่งต่างก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น โดยโจทก์และจำเลยต่างประมาทเลินเล่อด้วยกันแล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่ง คิดเป็นต้นเงินค่าเสียหายจำนวน 382,561.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิด จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 382,561.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.