ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องถูกจำกัดด้วยคำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์ฟ้องซ้ำไม่ได้ แม้มีข้ออ้างใหม่
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ดำเนินการใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยทั้งสองฝ่ายรับว่า ที่ดินพิพาทมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของร่วมด้วย ศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปขายให้โจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และเจ้าของรวมคนอื่น โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวให้การว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรวม จำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจึงปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 3 ใน 7 ส่วน จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของจำเลยที่ 3 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ โดยที่จำเลยที่ 3 มิได้ให้ความยินยอมและมิได้เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนสัญญา ดังกล่าวไม่ผูกพันกรรมสิทธิ์ ส่วนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขอเพิกถอนสัญญาดังกล่าวได้ ในระหว่างพิจารณาของคดี ดังกล่าว โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงเจตนาลวงฉ้อฉลโจทก์ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมเพื่อให้ศาลพิพากษาตามยอมว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาท ทำให้โจทก์ซึ่งเป็น เจ้าหนี้เสียเปรียบและเสียหาย และศาลฎีกาได้พิจารณาคดีดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 3 ใน 7 ส่วนพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิของจำเลยที่ 3 โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวจึงผูกพันตามคำพิพากษานั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โจทก์จะมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยอื่นร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว อันเป็นการอ้างข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่โจทก์ต้องผูกพันหาได้ไม่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247