โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง ศาลฎีกาอนุญาตให้เลิกจ้างได้ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย และไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานโจทก์เพื่อรอคำสั่งศาลดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างและค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์กรอกข้อความอันเป็นเท็จในใบสมัครงานว่าที่โจทก์ออกจากงานจากบริษัทเดิมเนื่องจากต้องการไปทำงาน อย่างอื่น ความจริงโจทก์ถูกให้ออกเพราะขาดงานเกิน ๓ วันติดต่อกัน ทำให้จำเลยสำคัญผิดรับโจทก์เข้าทำงาน การแสดงเจตนารับโจทก์เข้าทำงานจึงเป็นโมฆียะ เมื่อจำเลยบอกล้างแล้วสัญญาจ้างแรงงานตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น และศาลฎีกาก็ได้พิพากษาให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตามที่จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตแล้ว ถือว่าสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้เกิดขึ้น โจทก์จำเลยไม่ได้เป็นนายจ้างลูกจ้างต่อกัน ทั้งถือได้ว่าการที่จำเลยร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ต่อศาลซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณายาวนาน เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าการพิจารณาว่าโจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง คดีนี้จำเลยตกลงรับโจทก์เข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยเพื่อรับค่าจ้าง โจทก์จำเลยจึงเป็นลูกจ้างนายจ้างกันตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามข้อ ๔๖ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในชั้นที่จำเลยขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างต่อศาลแรงงานกลาง ดังปรากฏในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๖/๒๕๓๑ ของศาลแรงงานกลางนั้น จำเลยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างว่า โจทก์มีเจตนาแจ้งคุณสมบัติในใบสมัครงานเป็นเท็จทำให้จำเลยเข้าใจผิดในคุณสมบัติของโจทก์ว่าโจทก์ได้ลาออกจากงานที่เคยทำ แต่ต่อมาจำเลยได้ทราบว่าโจทก์ออกจากงานโดยถูกเลิกจ้าง เพราะขาดงานเกิน ๓ วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลสมควร เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๗ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ระบุในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ และจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๑ (ที่ถูกวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๑) โจทก์ได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเดือนละ ๒,๗๖๒ บาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เกี่ยวกับวันที่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลย และอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายของโจทก์ คงกล่าวเพียงว่ากรณีต้องถือว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๑ จึงถือว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน ๑๖,๕๗๒ บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ที่โจทก์อุทธรณ์ประการที่สองว่าในระหว่างที่จำเลยขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๖๕/๒๕๓๑ นั้น จำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ชั่วคราวเพื่อรอคำสั่งศาล โดยในคำสั่งนั้นจำเลยได้ตกลงจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในระหว่างดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในระหว่างพักงานจนคดีถึงที่สุด เห็นว่า เงินส่วนนี้เป็นเงินที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่เงินที่กฎหมายบังคับให้จำเลยต้องจ่ายเช่นค่าชดเชยเป็นต้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวจริง แต่ในสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงที่จะรับฟังว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างพักงาน อุทธรณ์ข้อนี้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า การที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้นั้น จำเลยยังจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ คือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในคำสั่งของศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๖๕/๒๕๓๑ ศาลแรงงานกลางเพียงแต่มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องคือจำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้โดยมิได้กำหนดว่าให้เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้โดยมิได้กำหนดว่าให้เลิกจ้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และในการพิจารณาคำร้องอนุญาตเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยในคดีดังกล่าวก็เพียงแต่พิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะให้เลิกจ้างโจทก์ได้หรือไม่ เช่นนี้ เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างโจทก์ได้แล้วจำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างโจทก์ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ บัญญัติไว้ กล่าวคือ ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน ปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒๐ กันยาน๒๕๓๑ โดยมิได้บอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามีกำหนด ๔๐ วัน เป็นจำนวนเงิน ๓,๖๘๒ บาทให้โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๑๖,๕๗๒ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๓,๖๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์มิได้ระบุว่าต้องการให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันใดจึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง