โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2526 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันที่ 14 ของเดือน กำหนดชำระเงินต้นคืนภายใน 730 วัน นับแต่วันทำสัญญากู้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยได้ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 73369เลขที่ดิน 5044 ตำบลสามเสนนอก (บางซื้อฝั่งใต้)อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร ไว้กับโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นจำนวน 1,990,000 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 73369 เลขที่ดิน 5044ตำบลสามเสนนอก (บางซื่อฝัางใต้) อำเภอพญาไทกรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำกิจการแบ่งที่ดินพร้อมปลูกบ้านขายใช้ชื่อโครงการว่า หมู่บ้านภัทรนิเวศน์โจทก์ตกลงทำสัญญาให้จำเลยกู้ยืมเงินมาดำเนินโครงการจนกว่าจะสำเร็จ โอนขายให้แก่ลูกค้าได้ โดยให้จำเลยนำหลักทรัพย์ไปจดทะเบียนจำนองไว้มีข้อตกลงว่าจะไม่บังคับตามสัญญาและจะเพิกถอนสัญญากู้ สัญญาจำนอง เมื่อโครงการหมู่บ้านภัทรนิเวศน์เสร็จ โอนขายให้ลูกค้า และลูกค้านำที่ดินพร้อมบ้านไปจดทะเบียนจำนองกู้เงินกับโจทก์ แต่โจทก์ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,990,000 บาทแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 73369 เลขที่ดิน5044 ตำบลสามเสนนอก (บางซื้อฝั่งใต้) อำเภอพญาไทกรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาด หากได้เป็นไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาบางส่วน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญากู้และสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่าข้ออ้างตามคำให้การจำเลยนั้นเป็นเรื่องจำเลยอ้างว่ามีข้อตกลงกับโจทก์นอกเหนือไปจากข้อสัญญากู้และสัญญาจำนองอยู่อีก กล่าวคือโจทก์ตกลงให้จำเลยกู้เอาเงินไปดำเนินโครงการหมู่บ้านภัทรนิเวศน์จนสำเร็จสามารถโอนขายแก่ลูกค้าได้ โจทก์จะไม่บังคับตามสัญญากู้และสัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์ แต่จะเพิกถอนสัญญากู้และสัญญาจำนองให้เมื่อโครงการหมู่บ้านภัทรนิเวศน์สำเร็จโอนขายให้ลูกค้าแล้วลูกค้านำบ้านและที่ดินไปจดทะเบียนจำนองในการกู้เงินกับโจทก์ แต่ปรากฏว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ยอมให้จำเลยกู้เงินมาดำเนินโครงการหมู่บ้านภัทรนิเวศน์สำเร็จตามที่ตกลงไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง จำเลยจึงมีภาระที่จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างนั้นกรณีหาใช่จำเลยต่อสู้ว่าสัญญากู้และสัญญาจำนองไม่สมบูรณ์เพราะเป็นนิติกรรมอำพรางเนื่องจากโจทก์และจำเลยมีนิติกรรมที่แท้จริงใดอันผูกพันกันอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะต้องบังคับกันตามนิติกรรมที่ถูกต้องที่แท้กันอยู่อีกไม่ ฉะนั้นเมื่อสัญญากู้และสัญญาจำนองประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และมาตรา 714 บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือจึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เมื่อโจทก์มีสัญญากู้และสัญญาจำนองมาแสดงแล้วการที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่า ยังมีข้อตกลงเพิ่มเติมไปกว่าข้อความที่มีอยู่ในสัญญาทั้งสองนั้นอยู่อีก จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)ศาลไม่อาจที่จะรับฟังคำพยานบุคคลของจำเลยดังกล่าวได้ฉะนั้น การที่จำเลยฎีกาเพื่อให้ศาลฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานบุคคลของจำเลยมิได้ให้ฟังตามพยานเอกสาร ศาลฎีกาจึงไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้และจำนองที่ดินเป็นประกันโดยไม่มีข้อตกลงนอกเหนือไปจากข้อความตามสัญญากู้และสัญญาจำนอง จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผลปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) นี้ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษายืน