โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งและนำส่วนประกอบของเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์จากประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้ามาในราชอาณาจักรทางท่าเรือกรุงเทพ โดยสำแดงชนิดของในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าเป็นกรอบหน้าหลอดภาพทีวีโดยชำระอากรในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 85.15 ข.(4)(ข)อัตราอากรตามราคาร้อยละ 30 หลายครั้งหลายคราว ต่อมาความปรากฏว่าการที่จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าว จำเลยสำแดงชนิดของและชำระภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องเพราะของหรือสินค้าที่จำเลยนำเข้านั้นความจริงเป็นกรอบหน้าตู้โทรทัศน์อันเป็นส่วนประกอบของตู้โทรทัศน์ซึ่งระบุไว้ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 85.15 ข.(4)(ก) และจะต้องเสียอากรตามอัตราอากรตามราคาร้อยละ 50 มิใช่ประเภทที่ 85.15 ข.(4)(ข) จำเลยจึงต้องชำระภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากที่ชำระไว้เป็นเงิน 159,152.35 บาท ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สินค้าที่จำเลยสั่งและนำเข้าเป็นกรอบหน้าหลอดภาพทีวีในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 85.15 ข.(4)(ข) อัตราอากรตามราคาร้อยละ 30ซึ่งจำเลยได้ชำระภาษีอากรแก่โจทก์ถูกต้องแล้ว มิใช่เป็นส่วนประกอบของตู้โทรทัศน์ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 85.15 ข.(4)(ก) ทั้งไม่ปรากฏว่ามีบันทึกความเห็นถึงเหตุที่จะต้องฟ้องคดีของอธิบดีของโจทก์ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 102 โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลและคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีนายเฉลิมยศ ชาญศิลป์ และนายจอม ดวงจันทร์ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ เบิกความยืนยันว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรและชำระภาษีอากรไว้นั้นเป็นกรอบตู้โทรทัศน์ ส่วนจำเลยว่าเป็นกรอบหลอดภาพโทรทัศน์ ใช้เป็นคิ้วของหลอดภาพโทรทัศน์เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดผู้ใช้โทรทัศน์ แต่นายสมาน สาครวิสัย พยานจำเลยเบิกความว่ากรอบหลอดภาพโทรทัศน์นี้มีน๊อตขันติดกับตู้โทรทัศน์เพื่อไม่ให้หลุด ถ้าไม่ติดกรอบนี้จะทำให้มีช่องโหว่ระหว่างตู้โทรทัศน์กับหลอดภาพโทรทัศน์และนายวีระชัย บุญยเกตุ พยานจำเลยเช่นกันก็ว่าหลอดภาพโทรทัศน์ชนิดธรรมดาเมื่อประกอบกับตู้โทรทัศน์แล้วจะมีช่องว่างอยู่ กรอบหลอดภาพนี้ต้องติดกับตู้โทรทัศน์เพราะตัวหลอดภาพเป็นแก้วไม่สามารถจะเจาะเพื่อติดได้ จึงต้องเอาติดกับตู้โทรทัศน์ จากคำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวประกอบกับภาพโทรทัศน์ตามภาพหมาย ล.1 ถึงแม้พยานโจทก์จะไม่ได้เห็นว่าสินค้าทีวี แมสค์ ที่จำเลยนำเข้าและชำระภาษีอากรไว้มีรูปร่างลักษณะอย่างไรก็ตาม คดีก็ฟังได้ว่า ทีวี แมสค์ เป็นของที่ใช้ติดกับเครื่องรับโทรทัศน์ มิฉะนั้นเมื่อประกอบเป็นเครื่องรับโทรทัศน์แล้วจะมีช่องระหว่างหลอดภาพกับตู้โทรทัศน์ จึงเห็นได้ว่า ทีวี แมสค์ นี้เป็นส่วนประกอบของตู้โทรทัศน์ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้า ประเภทที่85.15 ข.(4)(ก) อันจะต้องชำระอากรตามอัตราอากรตามราคาร้อยละ 50 ในบัญชีต่อท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 278 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ได้ความจากคำของนายวีระชัยพยานจำเลยว่าฝาตู้โทรทัศน์ทุกด้านกันไฟฟ้าดูดผู้ถูกเครื่องโทรทัศน์ดังนั้นแม้ ทีวี แมสค์ นี้จะป้องกันไฟฟ้าดูดผู้ดูหรือผู้ใช้โทรทัศน์ด้วยก็ตามทีวี แมสค์ก็คงเป็นส่วนประกอบของตู้โทรทัศน์อยู่นั่นเอง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ว่าคดีขาดอายุความนั้น เห็นว่ากรณีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินภาษีอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิดแห่งของและอัตราอากรสำหรับของ (ทีวี แมสค์) ที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรมีอายุความสิบปี มิใช่เพราะเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปี ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 10 วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 4 คดีจึงไม่ขาดอายุความ และที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 120 (ที่ถูกมาตรา 102) วรรคท้าย(ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 8)กล่าวคือจะต้องให้อธิบดีของโจทก์ที่ 1 บันทึกความเห็นถึงเหตุที่จะฟ้องคดีเสียก่อนนั้นเห็นว่าในกรณีที่จะต้องบันทึกความเห็นของอธิบดีกรมศุลกากรว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงควรฟ้องผู้กระทำผิดดังที่บัญญัติไว้ในบทกฎหมายดังนั้น เป็นเรื่องที่จะฟ้องร้องคดีอาญา มิใช่การฟ้องเรียกเงินภาษีอากรที่ขาดเช่นคดีนี้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้แม้ไม่มีบันทึกความเห็นดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 159,152.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1