คดีนี้ เดิมโจทก์ฟ้องจำเลย ที่ ๑ ที่ ๒ กล่าวว่า จำเลยที่ ๑ เป็นกรรมการผู้จัดการสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด มีหน้าที่ดำเนินกิจการและรับผิดชอบในกิจการของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดด้วย มีหน้าที่เรียกร้องและชำระหนี้สินของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นกระทรวงในรัฐบาลควบคุมกิจการของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด ส่วนโจทก์เป็นลูกจ้างของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ ในตำแหน่งหัวหน้ากองค้า มีหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่งในกิจการของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดด้วย
เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ๒๔๘๔ โจทก์ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ ๑ ให้จัดการขนส่งน้ำตาลในกิจการของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ รวมทั้งได้รับมอบให้ว่าจ้างบุคคลภายนอกช่วยทำการขนส่ง ตลอดจนการจ่ายค่าจ้างให้แก่บุคคลผู้รับจ้าง ในการนี้โจทก์ได้จ่ายเงินส่วนตัวทดรองในกิจการขนส่งน้ำตาลเป็นเงิน ๑๕,๕๒๑ บาท ๗๕ สตางค์
โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ๒๔๘๙ ขอให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินทดรองและเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒๐,๑๐๖ บาท ๗๕ สตางค์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลอนุญาต
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะเป็นตัวแทนผู้ใด และโจทก์ได้จ่ายเงินทดรองไปจริง พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๑๕,๕๒๑.๗๕ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดฐานเป็นตัวแทนจำเลยที่ ๒ เมื่อปรากฎตัวการคือ จำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ต้องรับผิด ฉะนั้นเมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ไปเสียแล้ว ผู้ที่จะต้องรับผิดตามคำฟ้องก็ไม่มี จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ได้บรรยายถึงอำนาจและหน้าที่จำเลยที่ ๑ ในสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด และบรรยายว่าจำเลยที่ ๒ เป็นกระทรวง ควบคุมกิจการสำนักงานนี้ มิได้มีปรากฎว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นตัวแทนจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใด การที่โจทก์กล่าวถึงจำเลยที่ ๒ ว่าเป็นผู้ควบคุมกิจการสำนักงาน ไม่พอที่จะให้ถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทน
ส่วนจำเลยที่ ๑ ผู้มีหน้าที่จัดการสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดและเป็นประธานกรรมการผู้ชำระบัญชีด้วยกัน ก็ย่อมจะถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ เพราะไม่มีกฎหมายบทใดยกเว้นให้ไว้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
จึงพิพากษา ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยความรับผิดของจำเลย แล้วพิพากษาใหม่