โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,364, 365, 91 จำเลยให้การปฏิเสธ นายอาทร และ นางสาวบัวลาขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 364, 365 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดปรับคนละ100 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 391 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 364ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะบทมาตราแห่งความผิดเท่านั้น ส่วนกำหนดโทษคงเป็นไปตามเดิม จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 จำเลยทั้งสองฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในการวินิจฉัยในข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการแรกว่า องค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 คือการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับโจทก์ร่วมที่ 1ผู้เป็นเจ้าของบ้าน การเข้าออกบ้านทั้งสองหลังระหว่างจำเลยทั้งสองกับผู้เสียหายนั้นเป็นเรื่องที่กระทำกันมาตลอด การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นการเข้าไปโดยถือวิสาสะย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามบทมาตราดังกล่าวนั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 กับของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นทาวน์เฮาส์อยู่ติดกันทั้งสองฝ่ายเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมื่อวันที่4 กรกฎาคม 2528 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ร่วมที่ 1 กับนางวัลยา อุยยามะพันธุ์ ภริยาโจทก์ร่วมที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นคนใช้ของโจทก์ร่วมที่ 1 เล่าให้คนใช้ของจำเลยทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับนางสาวมีคนใช้เก่าของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงขอพบโจทก์ร่วมที่ 2 นางวัลยาบอกให้มาพบในตอนเย็นจำเลยที่ 1 ยืนยันขอพบในขณะนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 1 กำลังมีอารมณ์โกรธเกรงว่าจะเกิดเรื่องจึงบอกให้จำเลยที่ 1 รออยู่ที่หน้าบ้านแล้วโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปตามโจทก์ร่วมที่ 2 ในบ้านชั่วครู่ต่อมานางวัลยาบอกให้จำเลยที่ 1 รออยู่ที่หน้าบ้านและเดินเข้าไปในบ้าน จำเลยที่ 1เดินตามนางวัลยาเข้าไปในบ้านที่ห้องรับแขกเมื่อโจทก์ร่วมที่ 1พาโจทก์ร่วมที่ 2 มาที่ห้องรับแขก จำเลยที่ 1 ด่าว่า โจทก์ร่วมที่ 2ว่าเป็นไพร่เอาเรื่องไม่จริงมาพูด โจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธว่าไม่ได้พูด จำเลยที่ 1 ตบหน้าโจทก์ร่วมที่ 2 ไป 2 ครั้ง จำเลยที่ 2ได้ยินเสียงดังภายในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 ก็เข้าไปในบ้านที่ห้องรับแขกดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 2 ผลักโจทก์ร่วมที่ 2 จนศีรษะไปชนขอบหน้าต่างได้รับบาดเจ็บ โจทก์ร่วมที่ 1 กับนางวัลยาพูดห้ามจำเลยทั้งสองจึงหยุดโจทก์ร่วมที่ 1 โทรศัพท์ไปแจ้งความ จำเลยทั้งสองก็ออกจากบ้านไป ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายจำเลยทราบจากคนใช้ของตนว่าโจทก์ร่วมที่ 2 พูดว่าจำเลยที่ 2สามีของจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับนางสาวมีคนใช้เก่าของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองซึ่งรับราชการทั้งคู่ย่อมจะได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 1 คงประสงค์จะสอบถามเรื่องดังกล่าวจากโจทก์ร่วมที่ 2เพื่อให้ได้ความกระจ่ายชัด ได้ความว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเรื่องราวที่ทราบมาจากคนใช้ของตนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมที่ 1 และนางวัลยาฟัง และขอพบโจทก์ร่วมที่ 2 นั้นทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่มีเรื่องทะเลาะหรือมีปากมีเสียงกัน ทั้งในขณะที่จำเลยที่ 1 เดินตามนางวัลยาเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1ที่ห้องรับแขกก็ไม่ปรากฏว่านางวัลยาหรือโจทก์ร่วมที่ 1 ได้ห้ามปรามหรือขอร้องให้จำเลยที่ 1 ออกไปจากบ้าน เช่นนี้ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องรับแขกที่บ้านของโจทก์ร่วมที่ 1ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพื่อสอบถามเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ 2 นั้น กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ส่วนจำเลยที่ 2ย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ภริยาของตนเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1เพื่อสอบถามเรื่องราวดังกล่าว เมื่อมีเสียงดังขึ้นภายในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1ที่ห้องรับแขกเพื่อดูว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนั้น ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 โดยไม่มีเหตุสมควรอีกเช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ต่อว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าเอาเรื่องไม่จริงมาพูดโจทก์ร่วมที่ 2 ตอบว่า อาจารย์ใส่ร้ายหนูนั้นย่อมเป็นการดูถูกก้าวร้าวจำเลยที่ 1 เมื่อประกอบกับพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมที่ 2เคยพูดจาหมิ่นประมาทจำเลยที่ 2 แล้ว กรณีย่อมถือได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะพิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 บัญญัติว่า "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 พาโจทก์ร่วมที่ 2 มาพบจำเลยที่ 1ที่ห้องรับแขกแล้ว จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าเป็นไพร่เอาเรื่องไม่จริงมาพูด โจทก์ร่วมที่ 2 ตอบว่าตนไม่ได้พูดและกล่าวว่าอาจารย์ (หมายถึงจำเลยที่ 1) ใส่ร้ายหนู จำเลยที่ 1 จึงตบหน้าโจทก์ร่วมที่ 2 และต่อมาจำเลยที่ 2 ก็เข้ามาทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 2ด้วย ดังนี้เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมที่ 2 กล่าวถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงการปฏิเสธเรื่องที่จำเลยที่ 1 สอบถามเท่านั้นแม้โจทก์ร่วมที่ 2 อาจจะใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมแก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้างก็เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ก่อน กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์