โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2528 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของโจทก์ แล้วจับกุมนางสาวนิภาหรือต้อย ชัยภูมิหรือพุ่มพวงโดยมิได้แจ้งข้อหาและโดยไม่ได้มีหมายค้นและหมายจับ นับเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกับเป็นการกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ โดยมีเจตนาเพื่อแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีพ.ศ. 2503 มาตรา 8, 9 ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเป็นผู้ใช้ วาน หรือยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิด เหตุเกิดที่ตำบลวิหารแดงอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 200 วรรคสอง, 362, 364, 365(2)(3), 59, 83, 84, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2และที่ 3 ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364,365, 157, 200 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364 และ 365 ให้ลงโทษตามมาตรา 365 บทหนัก ปรับคนละ 1,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2528 โจทก์เปิดร้านขายอาหารชื่อร้านกระท่อมหงษ์ทอง ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 28 หมู่ 10ตำบลวิหารแดง อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี นอกจากโจทก์ได้ใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นร้านขายอาหารแล้ว โจทก์ใช้บ้านหลังนั้นเป็นที่พักอาศัยอยู่กับภรรยา 1 คน บุตรเล็ก ๆ 4 คน และลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานบริการอาหารที่เป็นสตรีอีก 2 คน นางสาวนิภาหรือต้อย ชัยภูมิหรือพุ่มพวง เป็นพนักงานบริการอาหารคนหนึ่งในจำนวนสองคนดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรีเมื่อคืนวันที่ 11 ธันวาคม 2528 เวลาประมาณ 22 นาฬิกาจำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจ ไม่มีหมายค้นและหมายจับได้เข้าไปตรวจค้นห้องภายในบ้านของโจทก์โดยพังประตูเข้าไปแล้วจับนางสาวนิภาไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอวิหารแดง โดยไม่ได้แจ้งข้อหาพร้อมกับยึดฟูก และผ้าปูที่นอนของโจทก์กับผ้าถุงของนางสาวนิภา ไปเป็นของกลาง ต่อมานางสาวนิภา ถูกพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานค้าประเวณีและเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจเดียวกันได้จับโจทก์ไปดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณี โจทก์ถูกควบคุมตัวอยู่ 2 วัน และนางสาวนิภา กับโจทก์ได้ถูกพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในข้อหาความผิดดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดี คดีถึงที่สุดดังรายละเอียดปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1657/2529 และ 3310/2529ของศาลชั้นต้นตามลำดับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่า คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันไปจับนางสาวนิภา ที่ร้านขายอาหารของโจทก์โดยไม่มีหมายค้นและหมายจับจริง เหตุที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ไปจับนางสาวนิภา เนื่องมาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบทราบมาว่าโจทก์ได้ใช้ร้านขายอาหารของโจทก์เปิดเป็นสถานการค้าประเวณีโดยให้พนักงานบริการอาหารสตรีซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์รับจ้างร่วมประเวณีกับลูกค้าที่เข้าไปรับประทานอาหารในร้านของโจทก์ด้วยเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบทราบมาเช่นนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้วางแผนจับกุมผู้ค้าประเวณีโดยได้มอบเงินให้นายสุวัชชัย กองเมือง เป็นสายลับเข้าไปติดต่อขอร่วมประเวณีกับสตรีในร้านของโจทก์ ครั้นถึงเวลานัดหมายคือประมาณ 22 นาฬิกาของคืนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้าไปจับกุมนางสาวนิภา จากในห้องพักภายในร้านของโจทก์ในขณะที่นางสาวนิภาอยู่กับนายสุวัชชัย เพียงลำพังภายในห้องแห่งนั้น ก่อนจับกุมนางสาวนิภา นายสุวัชชัย บอกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่านายสุวัชชัย ได้ร่วมประเวณีกับนางสาวนิภา แล้วในคืนดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะจับโจทก์ในข้อหาเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณีด้วย แต่หลังจากจับนางสาวนิภา แล้วออกมาหาโจทก์ไม่พบ จึงไม่ได้จับโจทก์ในคืนนั้น โจทก์เพิ่งจะถูกจับตามหมายจับของสถานีตำรวจภูธรอำเภอวิหารแดง ในภายหลัง จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง การปฏิบัติการเกี่ยวกับการเข้าไปจับกุมนางสาวนิภา ภายในร้านของโจทก์รวมตลอดถึงการที่โจทก์ต้องถูกจับจนโจทก์ต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการไปโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์หรือนางสาวนิภา แต่อย่างใด
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200วรรค 2 นั้น คดีความผิดฐานนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยคดีคงมีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ ได้ความจากตัวโจทก์เบิกความว่า คืนเกิดเหตุ เวลาประมาณ22 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ขายอาหารอยู่ในบ้านเกิดเหตุของโจทก์ซึ่งใช้เป็นร้านขายอาหาร โจทก์ภรรยาและบุตรของโจทก์ กับนางสาวนิภาหรือต้อย ชัยภูมิหรือพุ่มพวง ลูกจ้างของโจทก์ใช้บ้านดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่มีหมายค้นและหมายจับได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ และได้พังประตูห้องพักภายในบ้านเกิดเหตุเข้าไปจับกุมนางสาวนิภา ลูกจ้างของโจทก์ไป จากคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าว ในเบื้องแรกศาลฎีกาเห็นว่าภายในบ้านเกิดเหตุในส่วนที่ใช้สำหรับให้บุคคลทั่วไปเข้าไปสั่งซื้อและรับประทานอาหารถือได้ว่าเป็นที่สาธารณสถานซึ่งประชาชนรวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความชอบธรรมที่จะเข้าได้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุในส่วนที่กล่าว จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดดังฟ้องของโจทก์ไม่ได้ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปจับกุมนางสาวนิภา ลูกจ้างของโจทก์จากห้องพักภายในบ้านเกิดเหตุนั้น เห็นว่าจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้ห้องพักดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยอย่างไร และไม่ปรากฏว่าเหตุที่จำเลยที่ 2 และที่ 3เข้าไปจับกุมนางสาวนิภา จากภายในห้องพักนั้น โดยนางสาวนิภาไม่ได้กระทำความผิดในทางอาญาทั้งคำเบิกความของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พังประตูห้องพักเข้าไปจับกุมนางสาวนิภาก็มีเหตุผลไม่น่าเชื่อ เพราะมีเพียงตัวโจทก์ที่เบิกความกล่าวอ้างดังกล่าวลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนให้เชื่อได้ว่าเป็นความจริง พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความดังนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพยานเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบทราบว่าโจทก์ใช้ห้องพักภายในบ้านเกิดเหตุเป็นที่ค้าประเวณีของหญิงค้าประเวณีก่อนเวลาเกิดเหตุในคืนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันวางแผนเพื่อจับกุมหญิงค้าประเวณี โดยให้นายสุวัชชัย กองเมือง เป็นสายลับไปร่วมประเวณีกับหญิงค้าประเวณีภายในบ้านเกิดเหตุ ครั้นถึงเวลาเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นัดหมายกับนายสุวัชชัย ไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุไปเคาะประตูห้องพัก เมื่อนายสุวัชชัย เปิดประตูห้องพักให้ก็พบนางสาวนิภา อยู่ในห้องพักนั้นกับนายสุวัชชัย และนายสุวัชชัย บอกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่านายสุวัชชัย ได้ร่วมประเวณีกับนางสาวนิภา ผู้ค้าประเวณีแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้เข้าไปจับกุมนางสาวนิภา ไปจากภายในห้องพักดังกล่าว กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีนายสุวัชชัย เป็นพยานเบิกความได้ความสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยว่า โจทก์ใช้ห้องพักภายในบ้านเกิดเหตุสำหรับให้หญิงค้าประเวณีทำการค้าประเวณีกับบุคคลทั่วไป ก่อนเกิดเหตุนายสุวัชชัย เองก็เคยไปร่วมประเวณีกับหญิงค้าประเวณีในห้องพักในบ้านเกิดเหตุ และในคืนเกิดเหตุนายสุวัชชัย ได้ร่วมประเวณีกับนางสาวนิภา ผู้ค้าประเวณีในห้องพักภายในบ้านเกิดเหตุ เมื่อนายสุวัชชัย เปิดประตูห้องพักให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามที่นัดหมายกันไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงได้เข้าไปจับกุมนางสาวนิภา ผู้ค้าประเวณีไปจากห้องพักดังกล่าวพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ความสอดคล้องต้องกันดังนี้ เห็นว่ามีน้ำหนักเชื่อได้ว่าโจทก์ใช้ห้องพักที่จำเลยที่ 2และที่ 3 เข้าไปจับกุมนางสาวนิภา สำหรับให้หญิงค้าประเวณีทำการค้าประเวณีกับบุคคลทั่วไป และในคืนเกิดเหตุนางสาวนิภา ลูกจ้างของโจทก์ได้ทำการค้าประเวณีในห้องพักดังกล่าวจริงตามที่จำเลยที่ 2และที่ 3 นำสืบ จึงเห็นว่าห้องพักดังกล่าวถือได้ว่าเป็นที่สาธารณสถาน และจากข้อเท็จจริงดังได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2และที่ 3 ที่ว่า เมื่อนายสุวัชชัย เปิดประตูห้องพัก จำเลยที่ 2และที่ 3 ก็พบนางสาวนิภา อยู่ในห้องพักนั้นกับนายสุวัชชัยเพียงสองต่อสอง ทั้งนายสุวัชชัย ยังบอกจำเลยที่ 2 และที่ 3ด้วยว่า นายสุวัชชัย ได้ร่วมประเวณีกับนางสาวนิภา แล้วเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พบนางสาวนิภาในลักษณะซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่า นางสาวนิภา เพิ่งได้กระทำความผิดฐานค้าประเวณีมาแล้ว อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80 จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงมีอำนาจเข้าไปทำการจับกุมนางสาวนิภา จากภายในห้องพักดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องมีหมายค้นและหมายจับ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์