คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษา โดยเรียกโจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 2 สำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ร่วมสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 สำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์สำนวนหลังเป็นจำเลย
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าอาคารเลขที่ 56 อาคาร 4 ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานครจากโจทก์ที่ 2 ต่อมา โจทก์ที่ 1 ได้เช่าช่วงอาคารดังกล่าวเฉพาะชั้นที่ 1 จากจำเลยโดยโจทก์ที่ 1 ได้เข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ในอาคารดังกล่าวจนถึงทุกวันนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ที่ 2 ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 2 ทราบว่า จำเลยได้นำเอาอาคารดังกล่าวมาให้โจทก์ที่ 1 เช่าช่วงและสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยและได้เปิดประมูลให้เช่าอาคารดังกล่าวสำหรับชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ในที่สุดโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ประมูลได้ โจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาให้โจทก์ที่ 1 เช่ามีกำหนด 3 ปี โจทก์ที่ 1 ก็ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์อาคารดังกล่าวในชั้นที่ 1 สำหรับชั้นที่ 2 โจทก์ที่ 1ยังไม่สามารถเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ได้ เพราะจำเลยยังไม่ยอมส่งมอบการครอบครองคืนให้แก่โจทก์ที่ 2 เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้บอกกล่าวหลายครั้งแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากชั้นที่ 2 ของอาคารดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ที่ 2เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเช่าช่วงและไม่ได้เข้าครอบครองอาคารดังกล่าวตามสัญญาเช่าช่วง เพียงแต่อาศัยอยู่เพื่อประกอบการชั่วคราวเท่านั้น ต่อมาจำเลยต้องใช้อาคารจึงแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมออกไป จำเลยจึงได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 16285/2526 ของศาลชั้นต้นโจทก์ที่ 2 ไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 2 ยังไม่สิ้นสุด โจทก์ที่ 1 ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 และจำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 1เป็นคดีอยู่แล้ว จึงไม่ได้ละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1 ขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 2 ฟ้องว่า จำเลยได้ให้โจทก์ที่ 1 เข้าอยู่ครอบครองและใช้ประโยชน์ในอาคารพิพาทชั้นที่ 1 เป็นการผิดสัญญาเช่าข้อ 7 ประกอบกับสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 2 ได้ครบกำหนดแล้วโจทก์ที่ 2 จึงได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้จัดให้โจทก์ที่ 1 เช่าอาคารพิพาท โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้เช่าอาคารพิพาทโดยชอบ การที่จำเลยและบริวารยังอยู่ในอาคารพิพาทชั้นที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายไม่สามารถส่งมอบอาคารพิพาทชั้นที่ 2ให้แก่โจทก์ที่ 1 ได้ตามสัญญา ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากอาคารพิพาทชั้นที่ 2 และห้ามมิให้เกี่ยวข้องอาคารพิพาทชั้นที่ 1 และที่ 2 ต่อไปอีก
สำนวนหลังจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าอาคารเลขที่ 4/56 ซึ่งเป็นอาคารหลังที่ 4 ชั้นที่ 1 และที่ 2จากโจทก์ที่ 2 จำเลยใช้สถานที่ดังกล่าวประกอบการค้าตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับแต่ทำสัญญาเช่าแล้วจำเลยได้เข้าครอบครองอาคารและชำระค่าเช่าตลอดมา ต่อมาในระหว่างที่สัญญาเช่ายังมีผลบังคับอยู่นั้น โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้สมคบกันฉ้อฉลจำเลย โดยโจทก์ที่ 2 นำเอาอาคารดังกล่าวไปให้โจทก์ที่ 1 เช่าอีกต่อหนึ่งโดยอ้างว่า โจทก์ที่ 1 ประมูลการเช่าได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยไม่เคยผิดสัญญาเช่า โจทก์ที่ 2 บอกเลิกสัญญาเช่าต่อจำเลยไม่ได้เพราะสัญญาเช่ายังมีผลบังคับอยู่ ขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยได้มีสิทธิตามสัญญาเช่าที่มีอยู่กับโจทก์ที่ 2 ถูกต้องตามกฎหมายและสัญญาเช่าต่อไป ให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ที่ 2 ให้การว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าข้อ 7 โดยยินยอมให้โจทก์ที่ 1 เข้าไปใช้ประโยชน์ในอาคารที่เช่า ประกอบกับสัญญาเช่าดังกล่าวหมดอายุการเช่าแล้ว โจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงนำอาคารพิพาทเปิดประมูลให้เช่าโจทก์ที่ 1 ฝ่ายเดียวเข้าประมูล โจทก์ที่ 2 จึงได้ให้โจทก์ที่ 1เป็นผู้เช่าอาคารพิพาท ขอให้ยกฟ้องจำเลย
โจทก์ที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์ที่ 2 เพราะโจทก์ที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแล้วและจัดให้มีการประมูลการเช่า ผลที่สุดโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ประมูลการเช่าได้ จำเลยไม่ยอมส่งมอบอาคารพิพาทให้โจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 1 จึงฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่18610/2527 ของศาลชั้นต้น จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทและการเสียสิทธิการเช่าเพราะความผิดของจำเลยเองขอให้ยกฟ้องจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในคดีสำนวนแรกและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากชั้นที่ 2 ของอาคารพิพาท ให้จำเลยส่งมอบอาคารดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก พิพากษายกฟ้องคดีสำนวนหลัง จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทมีกำหนดการเช่าครั้งละ 1 ปี ตั้งแต่ปี 2482 ได้มีการต่อสัญญากันเรื่อยมาจนถึงปี 2518 จึงไม่ได้มีการต่อสัญญากัน แต่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารพิพาท ต่อมาโดยจ่ายค่าเช่าให้แก่โจทก์ที่ 2 จนกระทั่งปี 2521 โจทก์ที่ 1 ได้เข้ามาใช้ชั้นล่างของอาคารพิพาทประกอบธุรกิจ โดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่จำเลยเดือนละ 9,000 บาท โจทก์ที่ 2 จึงได้บอกเลิกการเช่า และให้โจทก์ที่ 1 เช่าอาคารพิพาทแทนจำเลย
จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า การบอกเลิกการเช่าของโจทก์ที่ 2ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ที่ 2 คือผู้อำนวยการของโจทก์ที่ 2 แต่มติของคณะกรรมการปรับปรุงอาคารของโจทก์ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.17 ที่ให้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยไม่ได้ระบุเจาะจงให้ใครเป็นผู้บอกเลิก ผู้มีอำนาจบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยจึงต้องเป็นผู้อำนวยการของโจทก์ที่ 2 เท่านั้น ดังนั้นที่นางยุดา วามานนท์ มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยโดยมิได้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการของโจทก์ที่ 2 เพราะมติของคณะกรรมการตามเอกสารหมาย จ.17 ไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจ จึงเป็นการบอกเลิกการเช่าโดยไม่มีอำนาจสัญญาเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยจึงยังคงสภาพอยู่ไม่ระงับลง เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการปรับปรุงอาคารของโจทก์ที่ 2 มีมติให้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลย นางยุดาซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอาคารของโจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่จำเลยไปตามมติดังกล่าวนั้นแม้ในมตินั้นจะไม่ได้ระบุให้นางยุดาเป็นผู้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลย ก็ถือได้ว่านางยุดาบอกเลิกการเช่าแทนโจทก์ที่ 2แล้วโดยชอบโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องให้ผู้อำนวยการของโจทก์ที่ 2 ต้องมอบอำนาจอีกชั้นหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา การเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยจึงระงับลงแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อกรณีฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยโดยชอบแล้วดังได้วินิจฉัยข้างต้น ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการบอกเลิกการเช่าของโจทก์ที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟังไม่ขึ้นไปด้วย"
พิพากษายืน