โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทต่างกรรมกัน กล่าวคือ
ก. จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ชนิดประกอบขึ้นเอง ขนาด .22จำนวน 1 กระบอก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยกระสุนปืนลูกกรดขนาด .22 (แมกนั่ม) จำนวน 7 นัด อันเป็นอาวุธปืน กระสุนปืนที่ใช้ยิงได้ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
ข. ขณะสิบตำรวจตรีเสมอ เอี่ยมประชา เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อได้แสดงตัวต่อจำเลยว่าเป็นเจ้าพนักงาน โดยยื่นบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจให้จำเลยตรวจดู เพื่อทำการจับกุมจำเลยในข้อหาพรากผู้เยาว์จำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของสิบตำรวจตรีเสมอ เอี่ยมประชา เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้อาวุธปืนดังกล่าวบังคับขู่เข็ญว่าจะยิงสิบตำรวจตรีเสมอ เอี่ยมประชา กับพวก จนเป็นเหตุให้สิบตำรวจตรีเสมอ เอี่ยมประชา กับพวกจำต้องหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุชั่วขณะ
ค. จำเลยบังอาจทำให้เสียหาย โดยฉีกทำลายบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจของสิบตำรวจตรีเสมอ เอี่ยมประชา ซึ่งยื่นแสดงแก่จำเลยออกเป็นชิ้น ๆ
เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยอาวุธปืน กระสุนปืน และบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจที่ถูกจำเลยฉีกทำลายเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 ฤศจิกายน 2514 ข้อ 2ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง คืนบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510มาตรา 3 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 2 ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบคืนบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจแก่เจ้าของ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ข้อหาอื่นโจทก์ไม่ขอให้ลงโทษ
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ ข. และ ค. ไว้โดยละเอียดพอสมควร จึงพออนุมานได้ว่าโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 140, 188 ด้วย และไม่ควรรอการลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้ภายใน 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ในข้อ ข. และ ค. ว่าจำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงาน และทำลายบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจ แต่ในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้อ้างบทมาตรา 138, 140, 188 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นบทลงโทษมาด้วย จะลงโทษจำเลยตามตัวบทกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่เห็นว่าเมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(6) และเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ สำหรับการกระทำผิดตามที่บรรยายฟ้องมา จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 188ไม่ได้ การที่โจทก์อ้างประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ซึ่งบัญญัติให้เรียงกระทงลงโทษมาด้วย ก็ไม่พอจะอนุมานว่าโจทก์ได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่มิได้อ้างมาเพื่อลงโทษจำเลยได้และเห็นว่าสำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้โดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่นั้น แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดในขณะฟ้องและศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษมา แต่เมื่อคดีมาสู่ศาลฎีกาและอยู่ในระหว่างพิจรณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3ยอมให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ ไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต นำไปขอรับอนุญาตได้ภายใน 90 วันโดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในขณะใช้พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็ยังได้รับการยกเว้นโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนี้ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในประเด็นนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
พิพากษาแก้ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์