โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เพราะตนมีบิดาเป็นคนต่างด้าว สัญชาติจีนและเรียนไม่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 4 มีความรู้ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และไม่ได้เป็นผู้สอบไล่ได้ชั้นปริญญาตรีหรือเทียบเท่าตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดมหาสารคาม เขตอำเภอเชียงยืนต่อนายอุดม หินตะ ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอเชียงยืนเจ้าพนักงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดและจำเลยแจ้งข้อความโดยวิธีการกรอกใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดแบบ สจ.1 ข้อ 7 ว่า ตนมีบิดาชื่อนายกวางห่าง แซ่กอ สัญชาติไทย และข้อ 10 ว่าตนมีความรู้สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 4 อันเป็นความเท็จแก่นายอุดมปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอเชียงยืน เจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่รับสมัครความจริงแล้วบิดาของจำเลยเป็นคนต่างด้าวสัญชาติจีนและจำเลยมีความรู้เพียงสอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ 4 ยังไม่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 4 ซึ่งอาจทำให้นายอุดมเจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่รับสมัคร ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 91 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพ.ศ. 2482 มาตรา 64 และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดเวลา 8 ปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482มาตรา 64 เป็นการกระทำหลายกรรมต่าง ๆ กันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือนและปรับกระทงละ 1,000 บาท รวมจำคุก 13 เดือน ปรับ 3,000 บาทเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 8 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา และคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเป็นคนสัญชาติไทยโดยกำเนิด ซึ่งมีบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติจีน สัญชาติจีน ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดมหาสารคาม เขตอำเภอเชียงยืน ต่อเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 และแจ้งข้อความโดยวิธีกรอกใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดแบบ สจ.1 ข้อ 7 ว่า จำเลยมีบิดาชื่อนายกวางห่าง แซ่กอเป็นคนสัญชาติไทย และข้อ 10 ว่า จำเลยมีความรู้สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 4 มีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482มาตรา 19 บัญญัติว่า "บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวจะเป็นผู้สมัครได้ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 16 ทวิ และมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย คือ
(1) เป็นผู้ได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนตามกำหนดเวลาและสอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามแผนการศึกษาของชาติหรือได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศตามกำหนดเวลามาโดยตลอดจนมีความรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าหรือรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือแผนการศึกษาของชาติ
(2)...ฯลฯ"
ตามบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวหาได้มุ่งถึงสถานะของบุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นสาระสำคัญไม่ แต่จะต้องคำนึงถึงเชื้อชาติตามความเป็นจริง เพราะการเป็นบิดามารดาเป็นข้อเท็จจริงอาศัยความเกี่ยวข้องทางสายโลหิต แม้บุคคลนอกสมรสซึ่งตามกฎหมายถือว่าผู้ให้กำเนิดเป็นบิดาไม่ได้ แต่ผู้ให้กำเนิดก็เป็นบิดาได้ตามพฤตินัย นอกจากนี้ยังคำนึงถึงวัยและประสบการณ์ตลอดจนความผูกพันต่อภูมิภาคที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในเขตเลือกตั้งประกอบกัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้สมาชิกสภาจังหวัดที่เป็นบุคคลอยู่ในภูมิภาคซึ่งสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้วจึงเห็นว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าว จึงไม่จำต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายดังนั้น คำว่า "บิดา" ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดพ.ศ. 2482 มาตรา 19 และมาตรา 16 ทวิ จึงหมายถึงทั้งบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีความรู้สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 4 หรือไม่โจทก์มีนายประมูล จรูญรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเชียงยืนเป็นพยานเบิกความว่า พยานรับราชการอยู่ที่โรงเรียนบ้านเชียงยืนตั้งแต่ปี 2502 จนถึงปัจจุบัน เมื่อปี 2522 จำเลยได้สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับ 4เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งจะต้องเรียนทั้งหมด 3 เทอมจึงจะจบหลักสูตร หากศึกษาจบจะได้วุฒิมัธยมปีที่ 3 จำเลยเรียนอยู่เพียง 1 เทอม จึงไม่จบหลักสูตร ปรากฏหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4เป็นรายงานที่นายประมูลรายงานต่อนายอำเภอเชียงยืนผู้บังคับบัญชาจึงเชื่อได้ว่ารายงานตามความจริง คำเบิกความของนายประมูลประกอบเอกสารดังกล่าว จึงมีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟังที่จำเลยอ้างว่าจำเลยศึกษาจบหลักสูตรชั้นมัธยมปีที่ 4 จากโรงเรียนแสงศรวิทยา ตามใบสุทธิเอกสารหมาย ล.3 นั้น จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบสนับสนุนให้รับฟังได้ตามที่อ้างนอกจากนี้ตามเอกสารหมาย ล.3 ระบุว่าจำเลยจบหลักสูตรชั้นมัธยมปีที่ 4 เมื่อปี 2504 ซึ่งหากเป็นความจริงตามนั้นจำเลยก็ไม่น่ามาสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับ 4 ซึ่งมีวุฒิเมื่อศึกษาจบหลักสูตรเพียงมัธยมปีที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 อีก ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ 4 ตามเอกสารหมาย ล.3 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่าจำเลยไม่จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 4 จำเลยรู้อยู่แล้วว่าบิดาของจำเลยเป็นคนสัญชาติจีน และรู้อยู่ว่าตนไม่จบชั้นมัธยมปีที่ 4ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด แต่กลับแจ้งความอันเป็นเท็จ โดยกรอกข้อความในใบรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดว่า บิดาจำเลยเป็นคนสัญชาติไทยและจำเลยจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 4จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482 มาตรา 64ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา"
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482มาตรา 64 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ. 2482มาตรา 64 อันเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนด 8 ปี จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาจังหวัดแสดงว่าจำเลยเคยสร้างคุณประโยชน์ให้ประชาชนมาก่อน หลังจากจำเลยลาออกแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามมีหนังสือชมเชยในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลย จำเลยไม่ควรต้องโทษจำคุก จึงรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30