โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำหรือพาธนบัตรรัฐบาลไทยจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นเงินตราใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายอันเป็นของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง ออกไปนอกราชอาณาจักรทางชายแดนบริเวณปากแม่น้ำโขง ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายโดยหลีกเลี่ยงไม่ผ่านศุลกากร และนำเข้าธนบัตรจำนวนดังกล่าวอันเป็นของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรทางชายแดนดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงไม่ผ่านศุลกากร ขอให้ลงโทษและริบธนบัตรและเรือเพลายาวของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ปรับ ๔,๐๐๐ บาท รับสารภาพลดกึ่งคงปรับ ๒,๐๐๐ บาท ส่วนฐานนำเงินตราเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงไม่ผ่านศุลกากรนั้น พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินให้อำนาจบุคคลนำเงินตราเข้าราชอาณาจักรได้ไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่มีความผิด ให้ยกฟ้องความผิดฐานนี้ และให้ริบของกลางจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าธนบัตรรัฐบาลไทยเป็นเงินตรา ไม่ใช่ของตามพระราชบัญญัติศุลกากร จำเลยนำธนบัตรไทยจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ริบธนบัตรของกลางและจ่ายเงินรางวัลไม่ได้ พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๔, ๘ ปรับ ๔,๐๐๐ บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ ๒,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ธนบัตรของกลางเป็นธนบัตรรัฐบาลไทยและเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย มิใช่สิ่งของอันอาจนำไปจำหน่ายเป็นสินค้าอย่างธรรมดาทั่วไปได้ ธนบัตรของกลางจึงมิใช่ "ของ" ตามความในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่นำธนบัตรของกลางออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗
ธนบัตรและเรือเพลายาวของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด และการกระทำของจำเลยก็มิได้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ จึงริบธนบัตรและเรือเพลายาวของกลางไม่ได้ ทั้งจ่ายเงินรางวัลให้เจ้าพนักงานผู้จับไม่ได้ด้วย
พิพากษายืน.