โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการสร้างถนนบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1643 ซึ่งติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองและโจทก์ปลูกบ้านเลขที่ 80/1 หมู่ 10 อาศัยอยู่ การสร้างถนนดังกล่าวทำให้รั้วของโจทก์ทั้งสองเสียหาย ค่าซ่อมแซมรั้วที่เสียหายดังกล่าวเป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะเป็นผู้ละเมิดโดยตรง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันทำการซ่อมแซมรั้วของโจทก์ทั้งสองให้ดีดังเดิม หากไม่ซ่อมแซมก็ให้ใช้เงิน 40,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทั้งสองจะต้องทำการซ่อมแซมเอง ห้ามจำเลยและบริวารทำการสร้างถนนต่อไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะได้ทำการป้องกันดินถนนพังมาทับรั้วของโจทก์และป้องกันน้ำจากถนนไหลผ่านรั้วของโจทก์โดยการสร้างเขื่อนกันดินพังและสร้างทางระบายน้ำ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า มูลคดีนี้โจทก์ทั้งสองเคยยื่นฟ้องนายกสิณ จิตตประสาทศีล ต่อศาลชั้นต้นมาครั้งหนึ่งแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยฟังว่านายกสิณเจ้าของที่ดินไม่ใช่ผู้กระทำผิดขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 กระทำในฐานะตัวแทนนายกสิณเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาเป็นผู้ทำละเมิด โจทก์ทั้งสองชอบที่จะเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันทำการซ่อมแซมรั้วของโจทก์ให้ดีดังเดิม หากไม่ซ่อมแซมให้จำเลยทั้งสองใช้เงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท แทน และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท คำขออื่นให้ยกจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิด โดยทำถนนติดกับรั้วของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้รั้วของโจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย40,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 40,000 บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน50,000 บาท ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะฎีกา) การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจะวินิจฉัยแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่รับฟังเป็นยุติว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องนายกสิณจิตตประสาทศีล เป็นจำเลย ในข้อหาละเมิดทำให้รั้วโจทก์ทั้งสองเสียหายต่อศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ 3792/2528 คดีหมายเลขแดงที่ 2909/2529 ระหว่างนายแพทย์บัญชา เกิดพงษ์บุญโชติ กับพวกโจทก์ นายกสิณ จิตตประสาทศีล จำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดในคดีนี้ซึ่งเป็นมูลคดีเดียวกัน โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์นอกจากฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้แล้ว โจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์คดีที่ฟ้องนายกสิณ ขอให้นายกสิณรับผิดที่ทำให้รั้วของโจทก์เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้นายกสิณรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง นายกสิณฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน นายกสิณจึงได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองไปแล้ว ส่วนคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงได้ฎีกาและเมื่อยื่นฎีกาแล้วศาลฎีกาได้พิพากษาคดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับนายกสิณและนายกสิณชำระหนี้ไปแล้วดังที่กล่าวมา จำเลยที่ 1 จึงได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระหนี้ของนายกสิณตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำแถลงว่าได้รับเงินค่าเสียหายตามคำพิพากษาจากนายกสิณจริง แต่โจทก์ทั้งสองยังมีอำนาจฟ้องอยู่การจะรับชำระหนี้ซ้ำหรือไม่เป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 จึงมีว่าโจทก์ทั้งสองได้รับค่าเสียหายจากนายกสิณซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายโดยฟ้องเป็นคดีต่างหากจากคดีนี้ จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วยจะต้องรับผิดอีกหรือไม่ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้รับค่าเสียหายจากการที่ถูกกระทำละเมิดนั้นจนเต็มจำนวนแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระค่าเสียหายจากผลที่เกิดการเสียหายนั้นอีก โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 หรือจากผู้อื่นอีกต่อไป รวมไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย มิฉะนั้นแล้วโจทก์ทั้งสองจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับจริง จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอีกต่อไป แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาแต่ผู้เดียว ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย
โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในชั้นฎีกา แต่ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ศาลใช้ดุลพินิจให้ฝ่ายใดใช้แทนได้ตามที่เห็นสมควร สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีว่าไม่ต้องรับผิดซึ่งในขณะนั้นนายกสิณที่ถูกฟ้องอีกคดีหนึ่งก็ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิด จึงจำเป็นจะต้องดำเนินคดีให้รู้ว่าคนใดจะต้องรับผิดและต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมกันมาตลอด แต่ผลปรากฏในชั้นฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้ไปแล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว