ฟ้องโจทก์มีความว่า ข้อ ๑ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๘๗ เวลากลางวัน จำเลยได้รับต่างหูเพ็ชร์ ๑ คู่ราคา ๓๕๐๐ บาท ฯลฯของนางคำมูลไป ข้อ ๒ วันเวลาใดไม่ปรากฎระหว่างวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๘๗ ถึงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๙ จำเลยได้เอาทรัพย์รายนี้ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย ทั้งนี้โดยเมื่อวันเวลาดั่งกล่าวในข้อ ๑ จำเลยได้มีเจตนาทุจจริตฉ้อโกงด้วยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมาแจ้งกล่าวว่ามีผู้ต้องการซื้อ จำเลยจะเอาไปจัดการขายให้ นางคำมูลหลงเชื่อจึงส่งทรัพย์ให้หรือมิฉะนั้นระหว่างวันเวลาดังกล่าวในข้อ ๒ จำเลยได้มีเจตนาทุจจริตยักยอกทรัพย์รายนี้ที่นายคำมูลได้มอบไปให้จัดการขาย ฯลฯ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๓๐๔,๓๑๔.
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยบรรยายความผิดมาสองฐาน และไม่ปรากฎวันกระทำผิดแน่ชัด พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดฐานยักยอกนั้น ต่างก็เป็นเรื่องได้รับทรัพย์เขาไว้แล้วไม่คืน ต่างกันแต่ว่า เจ้าของได้ส่งทรัพย์ให้ด้วยอุบายหลอกลวงหรือมอบให้ด้วยความพอใจให้เก็บรักษาทรัพย์นั้น ซึ่งจะต้องพิเคราะห์ถึงเตนาประกอบการกระทำว่า จะต้องด้วยความผิดลักษณะฐานใดหรือไม่ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดตามวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ แล้ว และที่โจทก์หาว่าจำเลยกระทำผิดมาจนถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นเวลาก่อนฟ้องเพียงเดือนเศษนั้นข้อที่ไม่ปรากฎในฟ้องว่ารู้เรื่องความผิดเมื่อใด ไม่เป็นเหตุให้ยกฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลล่าง