ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เกษียณอายุกับการจ่ายค่าชดเชย: การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ยังคงมีผลบังคับใช้ แม้มีกฎหมายคุณสมบัติพนักงานรัฐวิสาหกิจ
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2518 ใช้สำหรับพิจารณาว่าคุณสมบัติขั้นมาตรฐานของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรบ้าง การที่รัฐวิสาหกิจให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุจะเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46เมื่อประกาศดังกล่าวมิได้ยกเว้นไว้เป็นพิเศษว่า การให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุไม่ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วเพียงแต่การที่รัฐซึ่งเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งปวงให้เป็นระเบียบเดียวกันในรูปของกฎหมายนั้น หามีผลเป็นข้อยกเว้นไปในตัวสำหรับบทนิยามของคำว่า "การเลิกจ้าง" ตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยไม่
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยได้กำหนดบทนิยามไว้ในข้อนี้เองว่า "การเลิกจ้าง" หมายความว่าอย่างไร ทั้งยังจำกัดลงไปด้วยว่า"การเลิกจ้างตามข้อนี้" แสดงว่า"การเลิกจ้าง" ในข้อ 46 นี้ใช้แก่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นดังนั้นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 31จึงไม่ต้องพลอยแปลคำว่า "การเลิกจ้าง" ตามคำแปลในเรื่องค่าชดเชยด้วย
การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ (ฉบับที่ 6) แก้ไขข้อ 46ของประกาศฯ (ฉบับที่ 5) ตัดข้อความที่ให้รวมเอากรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างด้วยออกไปนั้นอาจจะเป็นเพราะเห็นว่าบทนิยามคำว่า"การเลิกจ้าง" ตามที่เคยใช้อยู่ครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วก็ได้เพราะมิได้ระบุยกเว้นเป็นพิเศษแต่อย่างใด จะถือว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนหลักการยังไม่ได้
แม้ระเบียบของนายจ้างได้กำหนดเป็นข้อตกลงซึ่งเมื่อลูกจ้างสมัครเข้าทำงานก็ทราบอยู่แล้วว่า เมื่อมีอายุครบ 60ปีบริบูรณ์ก็จะพ้นจากตำแหน่งไป ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้มีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว เพราะมิใช่เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นรายๆ ไปว่าจะจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใดและการจ่ายค่าชดเชยนี้ เป็นหน้าที่ซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ในการจ่ายก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้นนายจ้างหามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยนั้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศฯ. อันมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายไม่
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2นิยามคำว่า "ค่าชดเชย" แต่เพียงว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้จะดูข้อ 46 และ47 ด้วยก็ไม่ปรากฏชัดว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้เป็นเพื่อการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินยังชีพในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปีตามมาตรา 164
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จึงเป็นหนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้วโดยลูกจ้างมิพักต้องทวงถามอีก. เมื่อนายจ้างมิได้จ่ายให้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย