โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับราชการในตำแหน่งตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงา ไปรักษาการแทนตรวจคนเข้าเมืองตะกั่วป่าระหว่าง 20 มกราคม 2496 ถึง 25 พฤษภาคม 2496 เวลากลางวันจำเลยได้เรียกเก็บและรับเงินค่าล่วงเวลาจากนายเจน กุลวานิชตัวแทนบริษัทเสตรดสตีมชิพ 34 ครั้งเป็นเงิน 7,090 บาท แล้วมิได้นำส่งคลัง กลับเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย จึงขอให้ลงโทษ
จำเลยรับว่ารับเงินไว้และเอาไปใช้จริง แต่ต่อสู้ว่าตามกฎกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2493 มาตรา 67 ข้อ 8 อนุญาตไว้ว่า "การตรวจ การควบคุมถ้าไม่ใช่วันเวลาตามปกติให้เสียค่าทำการล่วงเวลากับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แก่เจ้าพนักงานตามอัตราและหลักเกณฑ์" จำเลยจึงถือว่าเงินรายได้นี้เป็นส่วนได้ของจำเลย คำสั่งกระทรวงการคลังที่โจทก์อ้างดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 3 จึงขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 319 ข้อ 3, มาตรา 41, 42 ที่แก้ไขใหม่ ให้รอการลงอาญาโทษจำคุกไว้ เงินที่จำเลยเอาไปใช้ไม่ต้องคืนรัฐบาล เพราะไม่ใช่เงินของรัฐบาล
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 131 ส่วนกำหนดและรอการลงโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ทางราชการเพื่อจัดแบ่งต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ชี้ขาดในข้อที่จำเลยฎีกาที่ว่า"คำสั่งกระทรวงการคลังไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะรัฐมนตรีผู้ออกคำสั่งมิใช่ผู้รักษาการตามกฎหมายคนเข้าเมือง จึงไม่มีอำนาจจะสั่งได้... และถึงจะสั่งได้ก็ขัดต่อกฎหมายคนเข้าเมืองและกฎกระทรวงมหาดไทย ซึ่งบัญญัติให้เงินค่าทำการล่วงเวลาตกได้แก่เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ไปทำการนั้น" ว่าคำสั่งกระทรวงการคลังเป็นคำสั่งวางระเบียบการเงินที่เรียกเก็บได้เป็นค่าทำการล่วงเวลา ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองอย่างใด จึงไม่เป็นคำสั่งที่ผิดหรือขัดกับพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และคำสั่งนี้มิได้ขัดต่อกฎกระทรวงมหาดไทยที่จำเลยอ้างอย่างใด ฯลฯ จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์