โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335 (7) (11) (12) ให้จำเลยคืนทรัพย์หรือชดใช้ราคาเป็นเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) (12) วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพกสิกรรม โดยมิได้บรรยายว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์พืชพันธุ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้จากการทำกสิกรรมนั้น ตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิดตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น ที่ศาลล่างปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (12) ด้วย ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้สำหรับปัญหาในชั้นฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยลักทรัพย์นายจ้างแม้พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ได้ความจากคำร้องขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพของจำเลยลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 กับรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่า จำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดใด ๆ มาก่อน ผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการไร่ดูแลไร่ของผู้เสียหายซึ่งมีจำนวนหลายร้อยไร่มาหลายปี จำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา เพิ่งจะมีปัญหาคดีนี้แต่ผู้เสียหายก็ปรับความเข้าใจกับจำเลยได้แล้ว ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป ทั้งยังให้จำเลยทำงานกับผู้เสียหายต่อไปเช่นเดิมอีกด้วย จำเลยมีอายุ 45 ปี แล้ว การดำรงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีนิสัยและความประพฤติในทางเสื่อมเสียจำเลยมีครอบครัวและมีบุตร 3 คน ดังนั้น สาเหตุที่กระทำความผิดน่าจะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คดีมีเหตุอันควรปรานีโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำความผิดแล้วก็ไม่อาจจะสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์อีกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) ให้ลงโทษและรอการลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7