โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สาบาลตัวที่จะให้ถ้อยคำเบิกความเป็นพยานต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญา จำเลยได้บังอาจเอา ความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จมาเบิกความในข้อสำคัญในคดีนั้น ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๕๕, ๑๕๖
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามที่โจทก์นำสืบมานั้น ไม่มีพยานที่ได้หรือได้ยินจำเลยสาบาลหรือปฏิญารตนอันเป็นหน้าที่โจทก์ จะต้องนำสืบให้ปรากฎตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๕๕, ๑๕๖ ทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาก็ฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยมีผิด พิพากษากลับให้ลงโทษและเพิ่มโทษคงจำคุก ๘ เดือน แต่ให้รอการลงโทษ
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาขอไม่ให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๕๕, ๑๕๖ นั้น ต้องได้ความว่าจำเลยได้ สาบาลหรือปฏิญาณตัวที่จะให้ถ้อยคำ ........ จำเลยให้การปฏิเสธฟ้อง จึงเป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยได้ สาบาลหรือปฏิญาณตัวแล้ว แต่คดีนี้ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้นำสืบพยานบุคคลถึงความข้อนี้เลย จริงอยู่โจทก์ได้อ้าง คำเบิกความของจำเลยลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๙๘ ปรากฎข้อความในคำเบิกความนั้นว่า "ข้าพเจ้าพยานได้สาบาลตนแล้ว" แต่ข้อความดั่งกล่าวนั้นเป็นแต่เพียงแบบพิมพ์ซึ่งได้ตีพิมพ์ไว้ก่อนแล้ว และเพราะในการเบิกความเป็นพยานในศาลก็ หามีกฎหมายบังคับให้พยานทุกคนต้องสาบาลหรือปฏิญาณตัวก่อนเบิกความไม่ ฉะนั้น ในคดีเรื่องที่เป็นเหตุให้จำเลย ถูกฟ้อง ความจริงพยานอาจจะไม่ได้สาบาลหรือปฏิญาณตัวก็ได้ มาในคดีนี้จำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่ได้สาบาลหรือ ปฏิญาณตัวในคดีนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยประกอบเป็นองค์ความผิด พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.