ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการมรดก: ผู้จัดการมรดกมีอำนาจหน้าที่อย่างไร และศาลจะพิจารณาถอนผู้จัดการมรดกเมื่อใด
แม้ผู้คัดค้านเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกจากธนาคารก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องย่อมไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทได้การที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคารไม่ใช่เหตุที่จะอ้างไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การที่ผู้ร้องไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่ความผิดของผู้ร้อง นอกจากนี้ผู้คัดค้านเป็นบุตรเจ้ามรดก ส่วนผู้ร้องเป็นมารดาผู้คัดค้านและเป็นภริยาเจ้ามรดกและทุกฝ่ายทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง การที่ผู้ร้องไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องมีเจตนาปิดบังทรัพย์มรดก ส่วนเรื่องผู้ร้องไม่เรียกประชุมทายาทก็ปรากฏว่าทายาทของเจ้ามรดกบางคนอยู่ต่างประเทศบางคนอยู่ต่างจังหวัดจึงเป็นการยากที่จะจัดประชุมทายาทดังนั้น ที่ผู้ร้องไม่จัดประชุมทายาทเพราะเหตุดังกล่าวมาจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และแม้ผู้ร้องจะไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และ 1729บัญญัติไว้ก็ตาม แต่มาตรา 1731 ก็ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า มีเหตุสมควรจะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ ซึ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก