โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 289, 83 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 83 ให้ประหารชีวิตจำเลย ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายร่างกายผู้ตายถึงแก่ความตาย
คดีมีปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดเพราะความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้หรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในข้อนี้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ปรากฏตามบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่จำเลยเขียนเองและที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนสรุปได้ว่า เมื่อประมาณ 2 ปี มานี้ จำเลยกับนายบุญเพ็งสามีได้ทำงานที่โรงงานของบริษัทไทยสแตนเลสสตีล จำกัด แต่อยู่คนละแผนก จำเลยทำงานอยู่แผนกเดียวกับผู้ตาย ผู้ตายเข้ามาพยายามทำดีกับจำเลยและเอาใจทุกอย่างจนลักลอบได้เสียกัน ต่อมานายบุญเพ็งสงสัยได้คาดคั้นเอาความจริงจากจำเลยด้วยความโกรธแค้นจนจำเลยต้องรับ หลังจากนั้นนายบุญเพ็งมีอาการเงียบขรึมจนน่ากลัว จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2539 นายบุญเพ็งพูดกับจำเลยว่า จะให้โอกาสจำเลยกลับตัวสักครั้งเนื่องจากสงสารลูกที่ยังเล็ก แต่ต้องทำตามที่นายบุญเพ็งสั่ง ถ้าไม่เช่นนั้นนายบุญเพ็งจะฆ่าเสียทั้งสองคน ด้วยความกลัวเพราะรู้นิสัยดีว่า นายบุญเพ็งเป็นคนพูดจริงทำจริง จำเลยจึงตอบตกลงว่า จะยอมทำตามที่นายบุญเพ็งสั่ง นายบุญเพ็งจึงบอกแผนให้ฟังว่า ให้นัดผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุแต่ให้แกล้งไปเอายาเสียก่อนเพื่อรอให้มืดสักหน่อย จำเลยพยายามพูดว่า ไม่ต้องไปฆ่าเขาหรอกกลับไปเริ่มต้นกันใหม่ก็ได้ แต่นายบุญเพ็งไม่ยอม วันรุ่งขึ้นก่อนออกจากบ้านนายบุญเพ็งได้กำชับจำเลยว่า ให้พาผู้ตายไปยังที่เกิดเหตุให้ได้ ไม่งั้นเตรียมตัวตายได้ จำเลยจึงไปหลอกชวนผู้ตายให้ไปร่วมหลับนอนกันอีกในวันรุ่งขึ้น และกลับมาบอกนายบุญเพ็งว่าได้นัดผู้ตายแล้วตามสั่ง และพยายามขอร้องให้นายบุญเพ็งเลิกคิดฆ่าผู้ตายอีก แต่นายบุญเพ็งไม่ยอม วันเกิดเหตุเมื่อจำเลยพาผู้ตายมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยทำทีเข้าไปปัสสาวะในป่า พบนายบุญเพ็งยืนถือมีดปลายแหลมรออยู่ นายบุญเพ็งถามว่า มันมาหรือไม่ จำเลยบอกว่า มารออยู่ข้างนอก นายบุญเพ็งว่า ไปเรียกมันเข้ามา จำเลยจึงตะโกนบอกผู้ตายว่า ทำกุญแจหายให้ผู้ตายเข้ามาช่วยหา แล้วถูกนายบุญเพ็งฆ่าตาย เมื่อฟังว่าคำรับสารภาพของจำเลยในส่วนที่เป็นโทษแก่จำเลยเป็นความจริงก็ต้องฟังตลอดไปถึงว่า คำของจำเลยดังกล่าวข้างต้นเป็นความจริงด้วย จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยถูกนายบุญเพ็งบังคับให้จำต้องกระทำ เมื่อพิเคราะห์ถึงว่า จำเลยและนายบุญเพ็งอยู่ด้วยกันเพียงสองคนในบ้านพัก จำเลยเป็นหญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าจึงอาจถูกนายบุญเพ็งข่มเหงเอาได้ตลอดเวลา ทั้งจำเลยเป็นชู้กับผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่นายบุญเพ็งสามีอาจฆ่าจำเลยเสียได้จริง และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย จะเห็นได้ว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจพาจำเลยมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยร้องไห้และเล่าถึงเหตุที่ฆ่าผู้ตายให้ฟัง ทั้งผู้ตายยอมทำตามที่จำเลยชักชวนโดยไม่ระแวงสงสัยชี้ให้เห็นว่า จำเลยร่วมฆ่าผู้ตายเพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของนายบุญเพ็งซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ แต่การที่จำเลยถึงกับยอมร่วมมือกับนายบุญเพ็งฆ่าผู้ตาย ถือได้ว่าได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 67 (1), 69 เมื่อพิเคราะห์ถึงว่าผู้ตายมีส่วนก่อเหตุอยู่ด้วยโดยมาติดพันจำเลยจนได้เสียเป็นชู้กันทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า จำเลยมีครอบครัวอยู่แล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยให้เหมาะสมกับความผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 83 ประกอบมาตรา 67 (1), 69 ให้วางโทษจำคุก 20 ปี คำรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.