โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2517 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 6 คนซึ่งรับราชการเป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี บังอาจร่วมกันเอามูลฝิ่นและเครื่องอุปกรณ์ในการสูบฝิ่น ยัดเยียดใส่ให้โจทก์ และทำบันทึกการตรวจค้นจับกุมว่าพบมูลฝิ่นและเครื่องอุปกรณ์ในการสูบฝิ่นดังกล่าวที่ตัวโจทก์ เป็นการทำพยานหลักฐานเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าโจทก์กระทำผิด วันเดียวกันนั้นเวลากลางวันจำเลยร่วมกันแจ้งข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อร้อยตำรวจโทถนอมพนักงานสอบสวนว่า โจทก์มีมูลฝิ่นเครื่องอุปกรณ์ในการสูบฝิ่นและเห็นโจทก์สูบฝิ่น ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์รับโทษทางอาญา ความจริงโจทก์มิได้กระทำผิด การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โจทก์ถูกร้อยตำรวจโทถนอมคุมตัวและดำเนินคดีในข้อหาว่ากระทำผิดตามที่จำเลยแจ้งความ เหตุเกิดที่ตำบลหัวนาและตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2517 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกความโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1650/2517 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรีว่าเห็นโจทก์มีมูลฝิ่น เครื่องอุปกรณ์ในการสูบฝิ่นและเห็นโจทก์กำลังสูบฝิ่น เหตุเกิดที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 177, 179, 157, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ส่วนข้อหาอื่น (สำหรับจำเลยที่ 1) และ (ข้อหาสำหรับ) จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทุกข้อหาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 มีมูลตามข้อหาอื่นที่โจทก์ฟ้องด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีมูลตามฟ้องทุกข้อหา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 179, 157, 83 ด้วย จำเลยที่ 2 มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 83 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 173, 179, 157, 83
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นพร้อมสอบถามคู่ความแล้วปรากฏว่าทายาทของผู้มรณะไม่ติดใจรับมรดกความ
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า แม้โจทก์จะมรณะ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีไปได้ และเห็นว่าฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้และพิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์