โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนด 2 แปลง โจทก์ได้ฝากโฉนดไว้กับสามีจำเลย ต่อมาสามีจำเลยตาย โฉนดตกอยู่ที่จำเลยจึงขอให้จำเลยคืนโฉนด จำเลยต่อสู้ว่าโฉนด 2 ฉบับนี้สามีจำเลยซื้อมาจากผู้อื่นแต่จะรับโอนโฉนดด้วยตนเองไม่ได้เพราะเป็นคนต่างด้าว จึงให้โจทก์ซึ่งเป็นหลานเป็นผู้รับโอนในนามโจทก์และโจทก์ได้ทำหนังสือรับรองว่าโฉนดนั้นเป็นของโจทก์แต่เพียงในนาม แต่หนังสือนี้หายเสียแล้ว จึงฟ้องแย้งให้โจทก์โอนโฉนดให้จำเลยในนามผู้จัดการกองมรดกของสามีจำเลย
ชั้นพิจารณา โจทก์ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยจะนำสืบหักล้างเอกสารทางทะเบียนไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นข้อนี้ก่อนแล้ว ชี้ว่าที่ดินตามโฉนดรายนี้เป็นของโจทก์ตามทะเบียน จำเลยจะนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ตามมาตรา 94(ข) จึงพิพากษาให้จำเลยมอบโฉนดให้โจทก์รับไป และยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยจะขอสืบพยานบุคคลเพราะเอกสารได้สูญหายนั้น เป็นการสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 92(2)จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป จนสิ้นกระแสความแล้ว พิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยต่อสู้ และฟ้องแย้งว่าที่ดินรายพิพาทนี้สามีจำเลยเป็นผู้ซื้อ แต่ใส่ชื่อโจทก์ไว้แทนหรือในฐานะเป็นตัวแทนของสามีจำเลย และโฉนดอยู่ในความยึดถือของสามีจำเลย การที่จำเลยจะขอสืบว่าความจริงโจทก์เป็นตัวแทนหรือลงนามแทน สามีจำเลยในโฉนดนั้นเป็นการนำสืบความจริงในระหว่างตัวแทนกับตัวการ ซึ่งเป็นลักษณะส่วนหนึ่งแห่งกฎหมายย่อมนำสืบได้ หาใช่เป็นเรื่องนำสืบหักล้างเอกสารทางทะเบียนไม่ และจำเลยจะขอนำสืบถึงเอกสารที่อ้างว่าโจทก์ทำรับรองให้ไว้แก่สามีจำเลย อันเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์เป็นตัวแทนสามีจำเลยก็นำสืบได้
จึงพิพากษายืน