ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่ทุจริต: ป.ป.ช. vs. ประมวลกฎหมายอาญา
อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไต่สวนแล้วมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดทางอาญา ต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตามความใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้กล่าวหาต้องยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นับถัดจากวันที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หาใช่อายุความฟ้องร้องคดีอาญาไม่
เมื่อความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 147 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงคือ จำคุกตลอดชีวิต และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงคือ 10 ปี อายุความการฟ้องคดีอาญาในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) และ (2) คือ 20 ปี และ 15 ปี ตามลำดับ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เป็นเวลาห่างกันเพียง 3 ปีเศษ คดียังไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง