โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 6 จำนองที่ดินเป็นประกัน จำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ขาดนัดพิจารณา ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2526 จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 6 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ขออนุญาตยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เหตุผลตามคำร้องไม่แสดงว่าจำเลยที่ 6มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ยกคำร้อง แล้วนัดสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จ
ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยที่ 6 ขอเลื่อนคดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นการประวิงคดี ให้งดสืบพยานจำเลยที่6 แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2526 จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 6มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ขอให้ไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลมีคำสั่งให้งดสืบพยานของจำเลยที่ 6 โดยเหตุที่ประวิงคดีมิใช่สั่งให้จำเลยที่ 6 ขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 6 จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวอ้างว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างเหตุ 2 ประการคือ จำเลยมิได้จงใจขาดนัดพิจารณาประการหนึ่ง และมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การอีกประการหนึ่ง สำหรับประการหลังนี้เป็นการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งแต่ประการใด คำสั่งลงวันที่ 24 ตุลาคม 2526 ของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งของศาลชั้นต้นเสีย และสั่งไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 6 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) แล้วมีคำสั่งใหม่
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้วจำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องตามคำร้องและคำสั่งลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2526 คำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 6 มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 นอกจากนั้นจำเลยที่ 6 มิได้ขาดนัดพิจารณา จึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้วพิพากษายืน
จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อคดีได้ความว่า ภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 10พฤษภาคม 2526 แล้วต่อมาวันที่ 24 เดือนเดียวกัน อันเป็นวันก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ และศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาต คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 พฤษภาคม2526 จึงเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 6 มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา226 ส่วนที่จำเลยที่ 6 ฎีกาขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยที่ 6 มิได้ขาดนัดพิจารณา จึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ตามมาตรา 207
พิพากษายืน.